Archive

เสน่ห์ไทยบนผืนผ้า

Description

เนื้อหาและรูปภาพในรูปแบบดิจิทัลนี้ได้จัดเก็บและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยผ้าไทย ปีพ.ศ. 2556 โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) หรือ TCDC ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของผ้าไหมและผ้าย้อมคราม เนื่องจากผ้าทั้งสองชนิดเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้แพร่หลาย และมีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด

Subject

textlie / thailand / unique / silk / culture / business / process / standard / tcdcarchive / technique / pattern / design / creativity / natural / fabrics / texture / knits

Details

File Format text/html
Print

เสน่ห์ไทยบนผืนผ้า

เสน่ห์ไทยบนผืนผ้า

ศิลปะภูมิปัญญาไทยบนผืนผ้าที่ถักทองดงามอย่างละเอียดประณีต ได้บอกเล่าถึงคติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ผ่านสีสันและลวดลายมาแต่โบราณ นับเป็นมรดกที่ตกทอดมานานนับศตวรรษ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้มีการทดสอบคุณสมบัติของผ้าไทยตั้งแต่เส้นใยจนเป็นผืนผ้า เป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าใจโครงสร้างของผ้า สไตล์ของผู้สวมใส่ รวมถึงกลุ่มการตลาดที่มีความสนใจ เพื่อเผื่อในอนาคตจะมีแบรนด์ใหม่หรือมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่มที่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงและจับต้องได้

เนื้อหาและรูปภาพในรูปแบบดิจิทัลนี้ได้จัดเก็บและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยผ้าไทย ปีพ.ศ. 2556 โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) หรือ TCDC ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของผ้าไหมและผ้าย้อมคราม เนื่องจากผ้าทั้งสองชนิดเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้แพร่หลาย และมีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด

เสน่ห์ไทยบนผืนผ้าแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

(1) ผ้าไหม-ผ้าย้อมคราม

(2) คติและความเชื่อเกี่ยวกับผ้าไทย

(3) ข้อมูลผ้าไทยเชิงกายภาพและการผลิต

(4) กระบวนการทดสอบสิ่งทอ

ส่วนที่ 1 ผ้าไหม-ผ้าย้อมคราม

ผ้าไหม

ผ้าไหมเป็นผ้าที่ทอจากเส้นใยไหมซึ่งได้จากตัวไหม มีลักษณะคล้ายหนอน การเลี้ยงไหมเริ่มต้นจากการปลูกต้นหม่อน ชาวบ้านจะหั่นใบหม่อนเป็นฝอย ๆ เพื่อเป็นอาหารของตัวไหม เมื่อไหมแก่ตัวจะชักใยหุ้มตัวเอง หลักจากนั้นผู้เลี้ยงจะสาวเอาเส้นใยไหมจมาใช้ถักทอ ตัวไหมนิยมเลี้ยงกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางในบางส่วน

คุณภาพเส้นใยของผ้าไหมคงทนกว่าเส้นใยฝ้าย จึงนิยมนำไหมมาทอเป็นผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญประเพณี หรือพิธีกรรม และผ้าไหมก็ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสถานภาพทางสังคมของผู้ใช้มาตั้งแต่โบราณ โดยสามารถจำแนกตามเทคนิคได้ 4 ประเภท ได้แก่ 1.ผ้ามัดหมี่ 2.ผ้าจก 3.ผ้าขิด 4.ผ้าหางกระรอก

1. ผ้ามัดหมี่

“มัดหมี่” หรือ “Ikat” เป็นภูมิปัญญาการสร้างลวดลายในการทอผ้าชนิดหนึ่ง โดยการมัดย้อมด้ายหรือเส้นไหมให้เกิดสีหรือลวดลายก่อนนำไปทอเป็นผืน มัดหมี่ที่นิยมมี 3 ชนิด คือ 1.มัดหมี่เส้นพุ่ง 2.มัดหมี่เส้นยืน 3.มัดหมี่เส้นพุ่งและเส้นยืน

ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่ คือ ลายที่คลาดเคลื่อน ซึ่งต่างจากผ้าชนิดอื่น ๆ สิ่งนี้นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้ามัดหมี่ด้วยเช่นกัน ส่วนเทคนิคในการทอผ้ามัดหมี่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มชุมชน “ไทลาว” อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง

ลายผ้ามัดหมี่

การสร้างลวดลายมัดหมี่ในปัจจุบัน มีการพัฒนาและประยุกต์มาจากลวดลายดั้งเดิมในภาพจิตรกรรมฝาผนัง เกี่ยวกับวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม โดยยึดแม่ลายมัดหมี่พื้นฐาน 7 แบบ และอาจมีลายพิเศษเพิ่มเติม

  1. ลายหมี่ข้อ
  2. ลายหมี่โคม
  3. ลายหมี่กง
  4. ลายหมี่บักจับ (กระจับ)
  5. ลายหมี่ดอกแก้ว
  6. ลายหมี่ขอ
  7. ลายหมี่ใบไผ่
  8. ลายพิเศษอื่น ๆ

2. ผ้าจก

“จก” เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผ้าผืนด้วยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้าผ้า ทอโดยใช้ไม้ ขนเม่น หรือนิ้วมือ โดยการยกหรือจกเส้นด้ายยืนขึ้นแล้วสอดใส่เส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปตามจังหวะของลวดลายลักษณะปักผสมทอ การจกแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน บางแห่งทอจกลายทางด้านหน้าผ้า โดยใช้ขนเม่นนับเส้นยืน และควักเส้นไหมพุ่งขึ้นเพื่อให้เกิดลวดลายหรือดึงด้ายจากข้างล่างสอดสลับไปตามความต้องการ ซึ่งการควักเส้นไหมนี้ถ้าเป็นผู้ชำนาญจะทำได้รวดเร็วคล้ายอาการ “ฉก” ของงู มีการสันนิษฐานกันว่า “จก” อาจเพี้ยนมาจากคำว่าฉก

การทอผ้าด้วยเทคนิคการจก ต้องใช้ความประณีตสูงและใช้เวลาในการทอเป็นอย่างมาก จึงมักทอเป็นผืนผ้าหน้าแคบเพื่อใช้ตกแต่ง มากกว่าการทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่น การทอเป็นเชิงผ้าซิ่น (ใช้ต่อกับตัวซิ่น) เรียกว่า “ซิ่นตีนจก”

ผ้าซิ่นเชิงจกหรือผ้าซิ่นตีนจกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนหัวซิ่น เป็นผ้าพื้นสีขาวหรือสีแดงเย็บติดกับส่วนหัวเพราะเวลานุ่งจะทำให้ชายที่พับเข้าไปในเข็มขัดไม่หนาเกินไป
  2. ส่วนตัวซิ่น จะทอเป็นผ้าพื้น ผ้ามัดหมี่ หรือผ้ายกมุกสีต่าง ๆ
  3. ส่วนเชิงซิ่น จะทอจกเป็นลวดลายที่สวยงาม

แต่ละส่วนจะทอแยกกันและมาเย็บรวมกันด้วยมืออย่างประณีตเรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก”

ลักษณะเฉพาะของผ้าเชิงจก คือ การทอทั่วไปเพื่อใช้เย็บต่อเชิงของผ้าซิ่น จะมีสีสันของลวดลายของแต่ละลายซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สังเกตได้ง่าย ๆ คือเนื้อผ้าจะเรียบด้านหน้าส่วนด้านหลังจะมีรอยต่อเป็นปุ่มปม ทั้งนี้เพราะการจกเส้นด้ายต่างสีกันจะทำให้เนื้อผ้าด้านหลังไม่เรียบร้อย

3.ผ้าขิด

“ผ้าขิด” หมายถึง ผ้าที่ทอโดยวิธีใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิดช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นแล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกงัดช้อนขึ้นนั้น วิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษจะคล้าย ๆ กับจก แต่ขิดติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าโดยไม่ใช้ไม้ค้ำ (Shed Stick) หรือ “เขา” (String Heddles) ที่เป็นไม้เขี่ยหรือสะกิดช้อนเส้นด้ายยืนขึ้น จังหวะของการสอดเส้นพุ่งซึ่งก็ห่างไม่เท่ากัน ทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่าง ๆ

คำว่า “ขิด” เป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสาน มาจากคำว่า สะกิด หมายถึง การงัดช้อนขึ้น การสะกิด สันนิษฐานจากภาษาบาลีว่า ขจิต แปลว่า ทำให้วิจิตร งดงาม แต่ในพจนานุกรม ภาคอีสาน-ภาคกลาง ฉบับปณิธาน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เขียนว่า “ผ้าขิต” ฉะนั้นในบางท้องที่อาจเขียนว่า “ผ้าขิต”

ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าทอพื้นเมืองของภาคอีสาน บางจังหวัดในภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย มีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนกว่าการทอผ้าธรรมดาเพราะต้องใช้เวลาและความละเอียดประณีตในการทอ

จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องผ้าทอลายขิด ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเป็นเวลานานกี่ศตวรรษที่มีการทอผ้าลายขิด แต่มีการบอกเล่าปากต่อปากว่าทำกันมาตั้งแต่โบราณกาล ลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอลายขิด จะเป็นสิ่งที่บอกให้ทราบถึงแหล่งที่มาและวิวัฒนาการของแนวความคิดในการเลือกใช้ลวดลาย ซึ่งมีการพัฒนาลวดลายโดยนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หมอนขิด ผ้าห่มขิด ส่วนมากทำขึ้นสำหรับใช้ภายในครอบครัว หรือนำไปถวายพระภิกษุช่วงเทศกาลงานบุญต่าง ๆ และยังใช้เป็นผ้าสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ด้วย

4.ผ้าหางกระรอก

“ผ้าหางกระรอก” เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความประณีตและงดงาม มีการใช้เทคนิคทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ “การควบเส้น” หรือคนไทยเรียกว่า “ผ้าหางกระรอก” อาจเป็นเพราะลวดลายของผ้าทอที่มีลักษณะเนื้อผ้าที่มีความเหลือบสีเห็นเป็นลายเส้นเล็ก ๆ ในตัว ซึ่งมองดูแล้วคล้ายกับขนหางกระรอก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกดังกล่าว ชื่อเรียกของผ้าชนิดนี้จะแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่นตามรูปลักษณ์ที่มุ่งเน้น เช่น บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าวา ผ้ายาว ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะความยาวของผืนผ้าที่ยาวกว่าผ้าถุงเท่าตัว บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าควบ เพราะถือเอาวิธีการทอแบบตีเกลียวควบมาใช้เป็นชื่อเรียก แต่คนส่วนมากนิยมเรียกว่าผ้าหางกระรอก

ผ้าหางกระรอกถือเป็นผ้าโบราณที่พบมากในแถบอีสานใต้ คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสระเกษ อุบลราชธานี ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งทอผ้าหางกระรอกที่งดงามที่สุด และมีประวัติการทอผ้ามานานกว่าร้อยปี

ผ้าย้อมคราม

ผ้าย้อมครามเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือที่ได้รับความนิยมในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากมีความโดดเด่น ทรงคุณค่าทางศิลปะและความสวยงาม กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตผ้าย้อมสีสังเคราะห์ที่ใช้พลังงานสูงที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและเร่งอัตราการเกิดภาวะโลกร้อนให้เร็วขึ้น

เส้นใยที่ได้จากฝ้ายจะเป็นสีขาว ดังนั้นถ้าผู้ทอต้องการให้ผ้าที่ทอมีสีสันสวยงาม และมีลวดลายจะต้องนำเส้นใยฝ้ายไปย้อมสี ในอดีตการย้อมสีวัตถุดิบนิยมย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ โดยมากเป็นสีที่สกัดมาจากส่วนต่างๆ ของพืชที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งที่สกัดมาจากส่วนเปลือกของลำต้น แก่น รากลูกหรือผลดอกและใบ รวมทั้งสีที่สกัดจากสัตว์ ได้แก่ ครั่ง เป็นต้น ซึ่งวิธีการย้อมดังกล่าวจะทำให้ได้สีหลัก ๆ เพียงไม่กี่สีเท่านั้น จึงทำให้ผ้าที่ทอในอดีตมีสีสันไม่ค่อยแปลกตา


ศิลปะภูมิปัญญาไทยบนผืนผ้าที่ถักทองดงามอย่างละเอียดประณีต ได้บอกเล่าถึงคติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ผ่านสีสันและลวดลายมาแต่โบราณ นับเป็นมรดกที่ตกทอดมานานนับศตวรรษ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้มีการทดสอบคุณสมบัติของผ้าไทยตั้งแต่เส้นใยจนเป็นผืนผ้า เป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าใจโครงสร้างของผ้า สไตล์ของผู้สวมใส่ รวมถึงกลุ่มการตลาดที่มีความสนใจ เพื่อเผื่อในอนาคตจะมีแบรนด์ใหม่หรือมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่มที่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงและจับต้องได้

เนื้อหาและรูปภาพในรูปแบบดิจิทัลนี้ได้จัดเก็บและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยผ้าไทย ปีพ.ศ. 2556 โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) หรือ TCDC ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของผ้าไหมและผ้าย้อมคราม เนื่องจากผ้าทั้งสองชนิดเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้แพร่หลาย และมีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด

เสน่ห์ไทยบนผืนผ้าแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

(1) ผ้าไหม-ผ้าย้อมคราม

(2) คติและความเชื่อเกี่ยวกับผ้าไทย

(3) ข้อมูลผ้าไทยเชิงกายภาพและการผลิต

(4) กระบวนการทดสอบสิ่งทอ

ส่วนที่ 2 คติและความเชื่อเกี่ยวกับผ้าไทย

ความเชื่อต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดผ่านลายผ้าถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการเลือกลายผ้ามาใช้ในงานหรือกิจกรรมใดต้องพิถีพิถันเป็นอย่างมาก อาทิ ลายที่จะนำไปถวายพระควรเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ในสมัยก่อนจะไม่ทอผ้าที่มีลายต่างประเภทกันโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าหากเลือกลายที่ไม่เหมาะกับงานจะไม่ได้รับความนิยมและไม่ได้บุญกุศล เมื่อประกอบกิจการอันใดจะไม่เจริญรุ่งเรือง โดยประเภทของลายผ้าได้รับอิทธิพลต่างกัน สามารถจำแนกออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ 1.ลายจากศาสดา 2.ลายจากสัตว์ 3.ลายจากพืช

1.ลายจากศาสดา

ลายพญานาค

มีความเชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าแห่งอาณาจักรงูที่นำความอุดมสมบูรณ์มาให้กับชาวโลก ถ้าใครสามารถทำลายรูปพญานาคได้ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ แต่การทำลายพญานาคมีแค่คนมีอายุเท่านั้นที่สามารถทำได้ เพราะคนที่มีอายุมักเป็นที่เคารพและยำเกรงของคนทั่วไป

ลายธรรมาสน์

ธรรมาสน์เป็นที่แสดงธรรมของพระสงฆ์ บุคคลทั่วไปไม่สามารถขึ้นไปนั่งเล่นได้เพราะเป็นของสูง หากใครทำมัดหมี่ด้วยลายนี้เชื่อว่าจะได้รับบุญกุศล ในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ พบว่ามีคนทำมัดหมี่ลายธรรมาสน์ถวายด้วย

2.ลายจากสัตว์

ลายนกยูง

นกยูง เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ ลายนกยูงปรากฎเป็นลายมัดหมี่ตั้งแต่สมัยก่อนจนมาถึงปัจจุบัน

ลายผีเสื้อ

ผีเสื้อ เป็นสัตว์ที่มีความสวยงามและรักอิสระ รักความสงบ มีความเชื่อว่าหากนำมาเป็นลายผ้า จะทำให้บุคคลนั้นมีมีลักษณะนิสัยเหมือนผีเสื้อ

ลายปีกไก่

เมื่อไก่กางปีกออกมาจะสวยงามมาก สิ่งนี้แสดงถึงเอกลักษณ์และความทรนงในตัวเอง จึงมีการนำลายปีกไก่มาตกแต่งบนผ้ามัดหมี่และผ้าขิด

ลายสิงโต

สิงโต เป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์ป่า แสดงถึงอำนาจและมีวาสนา นิยมทอผ้าลายนี้ให้กับเจ้านายหรือบุคคลที่นับถือ ซึ่งผู้ที่สวมใส่ผ้าทอลายสิงโต มักจะเป็นผู้ที่มีวาสนาดีและมีผู้นับหน้าถือตามากมาย

ลายช้าง

ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของความใหญ่โต ความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งมีศรีสุข หากผู้ใดสวมใส่ผ้าทอลายช้างแล้วเชื่อกันว่าจะพบกับความรุ่งเรืองและมีความมั่นคงในอาชีพการงาน

ลายงูเหลือม

งูเหลือม เป็นงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดางู หากจะนำลายงูมาทอบนผืนผ้าต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นอันดับแรก มีความเชื่อว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถใส่ลายนี้ได้เพราะถือว่าเป็นชีวิตเติบโตโดยสมบูรณ์แล้ว มีความพร้อมกับการเผชิญปัญหาและจะสามารถผ่านพ้นไปได้ ซึ่งลายงูเหลือมจะไม่มีการทอปะปนกับลายอื่นเป็นอันขาด

3. ลายจากพืช

ลายต้นสน

ต้นสนมีใบที่เป็นระเบียบ เหมาะกับการทำเป็นลายผ้ามัดหมี่และผ้าขิด มีความเชื่อว่าลายนี้จะทำให้ชีวิตมีระเบียบวินัยและมีความสงบสุขเหมือนต้นสน

ลายดอกพุดซ้อน

ลายดอกพุดซ้อนนำมาจากลายดอกไม้ไทย เป็นความหมายของความดี สามารถนำไปถวายพระสงฆ์เพื่อแสดงความเคารพนับถือได้

ลายหมาก

หมากบกหรือกระบกเป็นไม้ยืนต้น ที่พบได้โดยทั่วไป ช่างมัดหมี่หรือช่างทอผ้าจึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลายนี้ขึ้นมา ซึ่งหากใครสามารถนำลูกกระบกมาทำเป็นลายของผ้ามัดหมี่และผ้าขิดได้ แสดงว่ามีความอดทนและมั่งมีในอนาคต

คติความเชื่อของการใช้สีผ้า

“สี” เป็นอีกศาสตร์ที่ได้รับการเชื่อถืออย่างกว้างขวาง ในประเทศไทยเชื่อเรื่องความเป็นมงคลจากเทวดาสัปตเคราะห์หรือแม่ซื้อทั้ง 7 องค์ โดยแต่ละองค์มีสีกายตามสีประจำวันทั้งเจ็ด สีมงคลประจำวันมีการกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

ตามคติความเชื่อเรื่องสีประจำวันมีความเชื่อว่า วันอาทิตย์ควรใส่เสื้อผ้าสีแดง วันจันทร์ใส่สีขาวนวล วันอังคารใส่สีชมพู วันพุธใส่สีเขียว วันพฤหัสบดีใส่สีเหลืองอ่อน วันศุกร์ใส่สีฟ้าอ่อน และวันเสาร์ใส่สีดำ

นอกจากความเชื่อเรื่องสีประจำวันแล้วยังมีคติความเชื่อเรื่องการใช้สีในโอกาสต่าง ๆ อีกด้วย อาทิ

“สีขาว” เป็นสีที่บริสุทธิ์ ในพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเห็นว่ามีการใช้ผ้าสีขาวปูเพื่อตั้งเครื่องสังเวยบูชา

“สีแดง” เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าสาว

“สีส้มอ่อน” เป็นสัญลักษณ์ของโลก

“สีเหลือง” เป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ ผู้ปกครองบ้านเมือง

“สีม่วง” เป็นสีแห่งความเป็นแม่หม้าย

“สีดำ” เป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแต่เดิมจะใช้สีม่วงเข้มในการไว้ทุกข์ ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้สีสำหรับการไว้ทุกข์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

ความเชื่อของการใช้สีผ้าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผ้าในพิธีกรรมและผ้าในพุทธศาสนา

ผ้าในพิธีกรรม

ผ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่สนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทั้งเป็นเครื่องนุ่งห่ม สำหรับประกอบพิธีการตั้งแต่การเกิด การบวช การแต่งงาน จนกระทั่งการตาย ซึ่งหากจะกล่าวถึงผ้าที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทยสามารถจำแนกได้ดังนี้

1. การใช้ผ้าในพิธีที่เกี่ยวกับการเกิด

พิธีเกิด เป็นพิธีสำคัญที่คนไทยยึดถือมาช้านาน ในพิธีมีการใช้ผ้าโดยเริ่มจากผู้เป็นแม่จะต้องเตรียมทอผ้าไว้สำหรับการคลอดลูก ประกอบด้วย ผ้าอ้อม ผ้าห่ม ผ้าหุ้มฟูก (ที่นอน) เสื้อผ้า ผ้าทำความสะอาดและผ้าสำหรับห่อตัวหลังคลอด รวมถึงผ้าทำเปลนอน นอกจากนี้ในท้องถิ่นทางภาคอีสานจะมีการการเตรียมผ้ากำนัลสำหรับผู้ทำคลอดเพื่อแสดงความขอบคุณผู้ที่มาทำคลอดให้ด้วยการมอบผ้า อาจเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม หรือผ้าซิ่น อีกทั้งยังมีการเตรียมผ้าปูรองกระด้งสำหรับเด็กแรกเกิดเพื่อให้ออกมาถูกแดดในตอนเช้า เชื่อว่าร่างกายจะได้แข็งแรง

2. การใช้ผ้าในพิธีบวช

พิธีบวชในสังคมไทยถือว่าได้กุศลมาก ผู้บวชจะทำให้บิดามารดาได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ และการบวชถือเป็นการทดแทนพระคุณบิดามารดา ซึ่งผ้าในพิธีมีบทบาทสำคัญตั้งแต่การใช้ห่มตัวนาค รวมถึงใช้ประกอบในพิธีตั้งแต่ผ้าสบง ผ้าอังสะ ผ้าจีวร โดยส่วนใหญ่แล้วมารดาของผู้บวชจะเป็นผู้ทอผ้าให้บุตรชายเพื่อใช้ในพิธีการ

ในท้องถิ่นทางภาคใต้ผู้ขอบวชจะต้องขออโหสิกรรมต่อผู้ใหญ่ก่อนทำพิธีปลงผม หลังจากปลงผมจะแต่งกายด้วยผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่มีสีอ่อนนวล ห่มผ้าเฉียงบ่า ส่วนทางภาคเหนือผู้ที่จะบวชต้องแต่งกายด้วยผ้าใหม่แล้วแห่รอบหมู่บ้าน ในภาคกลางผ้าที่นาคสวมจะต้องใช้ผ้าใหม่สีขาว และสำหรับทางภาคอีสานผู้ขอบวชจะนุ่งผ้านุ่งหรือโสร่งก็ได้

โดยผ้าห้ามมีตำหนิ เพราะเชื่อหากผ้ามีมีตำหนิจะทำให้ผู้บวชและบิดามารดาเกิดความไม่สบายใจ พิธีบวชจะไม่ราบรื่นหรือมีมลทิน

3. การใช้ผ้าในพิธีแต่งงาน

คนไทยถือว่าผู้ผ่านพิธีการบวชได้ทดแทนคุณมิดามารดา ผ่านการบวชเรียน ขัดเกลาอารมณ์และความคิดจนมีความสุขุม รอบคอบ นับว่าเป็นการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ สามารถครองเรือนเป็นผู้นำของครอบครัวได้ต่อไป

พิธีแต่งงานเป็นพิธีมงคล เริ่มตั้งแต่การที่ผู้ใหญ่ไปเจรจาสู่ขอ พิธีหมั้น พิธีแต่งาน การส่งตัวเจ้าสาว ซึ่งในแต่ละขั้นตอนมีผ้าเข้ามาเกี่ยวข้องในพิธี

“ผ้าไหว้” ที่ใช้แสดงความเคารพญาติผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายโดยไม่มีการจำกัดความยาวแต่ต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 3 หลา ในภาคใต้จะใช้ผ้าขาวเป็นพับจัดในขบวนขันหมาก โดยเจ้าบ่าวเป็นผู้จัดเตรียม

“ผ้าไหว้ ผีเรือน” ตามความเชื่อแต่โบราณที่ว่าบนเรือนนั้นจะมีวิญญาณของปู่ ย่า ตา ยาย เฝ้าดูแลลูกหลานเรียกว่า ผีเรือน เมื่อลูกหลานที่เป็นหญิงแต่งงาน เจ้าบ่าวจะต้องจัดผ้าขาวใส่พานวางไว้บนหิ้ง ทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อไหว้ผีเรือนของเจ้าสาว เป็นการคาราวะฝากเนื้อฝากตัวกับผีเรือน ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากเจ้าบ่าวไหว้พ่อแม่เจ้าสาวแล้วมอบผ้าไหว้ไว้ ก็มิได้นำผ้าไหว้ไปวางบนหิ้งตามที่ถือปฏิบัติแต่เดิม ผ้าไหว้จึงกลายเป็นผ้าที่นำมาไหว้พ่อแม่ของเจ้าสาวในพิธีแต่งงานเท่านั้น

“ผ้าในพิธีกราบหมอน” เจ้าสาวจะเป็นผู้เตรียมผ้าขาว 2 ผืน ผืนหนึ่งใช้ขึงกางเหนือบริเวณทำพิธี อีกผืนใช้ปูทับบนหมอนก่อนการวางเครื่องบูชาบนหมอน การใช้ผ้าขาวประกอบพิธีนี้เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ไม่มีเสนียดจัญไรหรือมลทินใด ๆ

“ผ้าในการขอขมา หรือขอสมมา” ในประเพณีท้องถิ่นทางภาคอีสาน เจ้าภาพของฝ่ายหญิงต้องนำตัวเจ้าสาวไปขอขมาต่อพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าวก่อน โดยมีการจัดเตรียมผ้าซึ่งประกอบด้วย เสื้อ 1 ตัว ผ้าซิ่น 2 ผืน ส่วนของเสื้อไม่ได้ระบุว่าต้องทอด้วยผ้าชนิดใด ส่วนผ้าซิ่นนิยมใช้ผ้าไหมเท่านั้น การกำหนดเช่นนี้เพื่อฝ่ายชายจะได้พิจารณาฝ่ายหญิงที่จะมาเป็นสะใภ้ว่าเป็นคนเช่นไร มีนิสัยใจคออย่างไร

4. การใช้ผ้าในพิธีสงกรานต์

วันสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ในวันนี้จะมีการรดน้ำเพื่อขอพรจากผู้ใหญ่ คือ พ่อ แม่ และญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ ซึ่งจะมีการนำผ้าไปไหว้และมอบให้ผู้ใหญ่ รวมถึงมีการทอธงถวายวัดเพราะเชื่อว่าธงเป็นของสูง การได้ทอธงถวายวัดถือว่าได้บุญมากเป็นการสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง

5. การใช้ผ้าในการปลูกเรือน

ในการปลูกเรือนของคนไทยจะต้องมีการทำพิธี “สะเดาะเสนียด” และยกเสาเอกเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล โดยจะใช้ผ้านุ่งของผู้ชายผูกติดไว้กับเสาเอก และใช้ผ้านุ่งผู้หญิงผูกที่เสานางซึ่งคู่กับเสาเอก เสาอื่นแต่ละมุมบ้านจะใช้ผ้ายันต์ ซึ่งทำด้วยผ้าขาว ผ้าแดง สังกะสีหรือแผ่นเงิน มีเครื่องเซ่นไหว้ ข้าวปลา อาหาร ดอกไม้ และสิ่งที่มีชื่อเป็นมงคลอยู่ในพิธีด้วย

6. การใช้ผ้าในพิธีส่งเคราะห์

พิธีส่งเคราะห์ เป็นพิธีที่ทำขึ้นเพื่อการสะเดาะเคราะห์ให้พ้นจากทุกภัย ทำให้คนที่เจ็บป่วยหรือได้รับเหตุร้าย ได้รอดพ้นจากอันตรายที่เกิดขึ้น เป็นการทุเลาเหตุร้ายให้เบาลง ในอดีตนิยมทำกันอย่างแพร่หลายโดยผู้ประกอบพิธีมักเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว มีความเชื่อในทางไสยศาสตร์ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน การทำพิธีจะเป็นการส่งเครื่องเซ่นสรวงโดยมีธง (หรือตุงผ้า) มีลักษณะเป็นธงสามเหลี่ยม (กว้างประมาณ 2 นิ้ว) สีขาว-แดง เป็นส่วนประกอบเครื่องเซ่น

7. การใช้ผ้าในพิธีศพ

การใช้ผ้าในพิธีศพจะใช้ผ้าขาวสำหรับห่อและนุ่งผ้าให้ศพ ชั้นในจะนุ่งกลับด้าน สื่อความหมายถึงการตาย และชั้นนอกจะนุ่งปกติ สื่อความหมายถึงการเกิด มีความหมายโดยรวมว่าการตายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ในบางกรณีที่หากคนตายเป็นผู้มีฐานะดี จะนิยมใช้ผ้าขิดหรือผ้าไหมคลุมโรงศพ ในการแห่ศพจะใช้ผ้าฝ้ายคลุมหรือปกหน้าศพ และทำเป็นสายจูงโลงศพสำหรับพระสงฆ์นำหน้าขบวนแห่ นอกจากนี้ผ้ายังใช้สำหรับพิธีโยนผ้าข้ามศพ ทำภายหลังจากล้างศพแล้ว โดยจะโยนทั้งสิ้น 3 ครั้งเพื่อให้ครบองค์ไตรรัตน์แล้วนำผ้าไปสวดเพื่อถวายพระ นอกจากนี้ยังมีการถวายผ้าห่อหนังสือ โดยใช้ผ้าวาหรือผ้าซิ่นทอด้วยไหมเป็นการทำบุญให้ผู้ตาย

ประเพณีท้องถิ่นทางภาคเหนือเมื่อนำศพออกจากบ้านเพื่อไปที่วัด จะมีการถือตุงสามหาง (ธงสามแฉก) หมายถึงการยอมแพ้ต่อมัจจุราช ส่วนชายที่มีสามแฉกหมายถึงพระรัตนตรัยที่จะนำวิญญาณผู้ตายไปสู่สุคติ ทั้งนี้หากผู้ตายเป็นพระสงฆ์ที่มีอายุมากเป็นพระเถระที่แก่พรรษาหรือมีสมณศักดิ์ เมื่ออาบน้ำศพแล้วจะต้องนำจีวรที่ทอด้วยผ้าใหม่มาครองให้ และหากผู้ตายเป็นเจ้าผู้ครองนครเมื่ออาบน้ำศพแล้วจะต้องเอาผ้าที่ทอใหม่ทั้งชุดมาสวมให้ ทางภาคใต้บางท้องถิ่นใช้ผ้านุ่งเพียง 1 ศอกปิดหน้าผู้ตาย และใช้ผ้ายาว 1 ศอกห่มตัวผู้ตาย เพื่อเตือนสติว่าคนเรานั้นอายุสั้น ดังนั้นต้องหมั่นประกอบกรรมดีไว้อย่าได้ประมาท

ผ้าในพุทธศาสนา

ชาวไทยมีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนามาแต่โบราณกาล ดังนั้นจึงมีงานบุญ งานพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามากมาย ซึ่งผ้าได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องเป็นเครื่องใช้ในงานบุญและงานพิธีทางศาสนามากมาย

1. การใช้ผ้าในงานบุญกฐิน

กฐินเป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ กฐินเป็นงานบุญประเพณีของพุทธศาสนิกชนไทยที่มีมาช้านานทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ การถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ส่วนพิธีราษฎร์บางหมู่บ้านจะมีการถวายผ้าจุลกฐินที่ทอโดยหญิงสาวพรหมจารี ทั้งนี้การทอผ้าไตรจีวรจะเริ่มจากการเตรียมฝ้าย ปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมผ้า และตัดเย็บให้เสร็จภายในวันเดียว ทางภาคเหนือนิยมถือตุงตะขาบหรือตุงจระเข้นำขบวนกฐิน ซึ่งมีความหมายว่า สัตว์ต่าง ๆ ขอร่วมทำบุญด้วย

ในปัจจุบันการถวายผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของสงฆ์ลดความสำคัญลงไป แต่ให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงินหรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นกัน กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า “กฐินกาล” คือระยะเวลาทอดกฐินหรือเทศกาลทอดกฐิน จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้

2. การใช้ผ้าในงานบุญผ้าป่า

ผ้าป่า คือ ผ้าที่ยกทอดบังสุกุลพาดไว้บนกิ่งไม้ พระสงฆ์รูปใดมาพบก็จะชักเอาไปใช้งาน การทำบุญผ้าป่าสามารถทำได้ทุกเมื่อที่สะดวก ไม่มีเวลากำหนด ในพิธีทำบุญผ้าป่ามีการถวายผ้าไตรจีวรหรือผ้าสบง พร้อมเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงปัจจัย (เงิน) เดิมอาจใช้ผ้าขาวที่ไม่มีเจ้าของนำไปทิ้งในป่า วัด หรือป่าช้า ปัจจุบันมีการกล่าวคำถวายผ้าป่า และในภาคเหนือมีการทอผ้าประคด (ผ้าคาดเอวหรือผ้าคาดอก) ถวายในพิธีด้วย

3. การใช้ผ้าในพิธีทำบุญเข้าพรรษา

บุญเข้าพรรษาหรือบุญเดือนแปด เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาโดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันทำบุญเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจะอยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ในวันนี้ชาวบ้านจะข้าวปลาอาหารมาทำบุญตักบาตรที่วัด พร้อมด้วยเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น สบง จีวร ผ้าอาบน้ำฝน ยารักษาโรค เครื่องให้แสงสว่าง (เทียน ตะเกียง น้ำมัน) มาถวายแด่พระภิกษุที่วัด และมีการถวายเทียนพรรษาที่ตกแต่งอย่างสวยงามอีกด้วย

4. การใช้ผ้าในพิธีทำบุญออกพรรษา

เป็นงานบุญที่จัดทำขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จึงเรียกว่า บุญเดือนสิบเอ็ด วันออกพรรษาเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน นับแต่วันเข้าพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คือการอนุญาตหรือยอมให้ภิกษุสามารถบอกกล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย ในโอกาสนี้พระภิกษุและสามเณรจะอยู่พร้อมกันที่วัดเป็นจำนวนมาก พร้อมกับชาวบ้านก็จะหมดภาระจากการทำนา ชาวบ้านจึงถือเป็นโอกาสนี้ไปทำบุญที่วัดโดยพร้อมเพรียงกัน มีการฟังเทศน์ ถวายผ้าจำนำพรรษา ตอนค่ำมีการจุดประธีปโคมไฟ เป็นต้น

5. การใช้ผ้าในประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีประจำเมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งคือในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา โดยชาวนครศรีธรรมราชจะร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคทรัพย์สินเงินทองตามกำลังศรัทธาแล้วรวบรวมเงินจำนวนนั้นไปซื้อผ้าเป็นชิ้น ๆ มักเป็นสีเหลือง สีขาว หรือสีแดง นำมาเย็บต่อกันเข้าเป็นแถบยาวนับพันหลา จากนั้นก็จะพากันแห่ผ้าดังกล่าวไปยังวัดพระมหาธาตุมหาวิหาร โดยแห่ทักษิณาวรรตรอบองค์พระธาตุ 3 รอบ แล้วจึงนำเข้าสู่วิหารพระม้าหรือพระทรงม้า ซึ่งเป็นพระวิหารที่มีบันไดขึ้นสู่ภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุ เพื่อนำผ้านั้นไปพันโอบรอบฐาน องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า นับเป็นการถวายสักการะอย่างหนึ่ง ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุหรือพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชนับเป็นประเพณีที่รวบรวมเอาศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมาหล่อหลอมแสดงความเป็นปึกแผ่นในศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย

6. การใช้ผ้าในงานบุญมหาชาติ

เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวอีสาน มีการจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาลงบนใบลาน ซึ่งเรียกว่าคัมภีร์ ชาวอีสานเรียกพิธีนี้ว่า การทำบุญพระเผวส (พระเวส) มีการทอผ้าห่อคัมภีร์ถวายในพิธีสร้างธรรม ซึ่งมักทอด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ทอผ้าสลับไม้ไผ่ด้วยลวดลายที่สวยงาม มีการวาดภาพเรื่องราวพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบลงบนผืนผ้ายาว (หรือเขียนแต่ละตอนบนผ้าแต่ละผืน)


ศิลปะภูมิปัญญาไทยบนผืนผ้าที่ถักทองดงามอย่างละเอียดประณีต ได้บอกเล่าถึงคติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ผ่านสีสันและลวดลายมาแต่โบราณ นับเป็นมรดกที่ตกทอดมานานนับศตวรรษ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้มีการทดสอบคุณสมบัติของผ้าไทยตั้งแต่เส้นใยจนเป็นผืนผ้า เป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าใจโครงสร้างของผ้า สไตล์ของผู้สวมใส่ รวมถึงกลุ่มการตลาดที่มีความสนใจ เพื่อเผื่อในอนาคตจะมีแบรนด์ใหม่หรือมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่มที่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงและจับต้องได้

เนื้อหาและรูปภาพในรูปแบบดิจิทัลนี้ได้จัดเก็บและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยผ้าไทย ปีพ.ศ. 2556 โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) หรือ TCDC ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของผ้าไหมและผ้าย้อมคราม เนื่องจากผ้าทั้งสองชนิดเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้แพร่หลาย และมีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด

เสน่ห์ไทยบนผืนผ้าแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

(1) ผ้าไหม-ผ้าย้อมคราม

(2) คติและความเชื่อเกี่ยวกับผ้าไทย

(3) ข้อมูลผ้าไทยเชิงกายภาพและการผลิต

(4) กระบวนการทดสอบสิ่งทอ

ส่วนที่ 3 ข้อมูลผ้าไทยเชิงกายภาพและการผลิต

1. เส้นใย (Fibers)

เส้นใยหมายถึงวัสดุหรือสารใด ๆ ที่เกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น โดยมีอัตราส่วนระหว่างความยาวต่อเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับหรือมากกว่า 100 สามารถขึ้นรูปเป็นผ้าได้ และต้องเป็นองค์ประกอบที่เล็กที่สุดของผ้า ไม่สามารถแยกย่อยในเชิงกลได้อีก

ประเภทของเส้นใย

การแยกประเภทของเส้นใยสามารถจำแนกได้หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะ ซึ่งหากแบ่งตามแหล่งกำเนิดของเส้นใย จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เส้นใยธรรมชาติและเส้นใยประดิษฐ์ โดยในกลุ่มเส้นใยธรรมชาติ ยังแบ่งเป็นเส้นใยที่มาจากพืช สัตว์ และแร่ธรรมชาติ ส่วนเส้นใยประดิษฐ์สามารถแยกเป็นเส้นใยที่ประดิษฐ์จากธรรมชาติ เส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยที่ประดิษฐ์จากวัสดุอื่น ๆ

  1. เส้นใยธรรมชาติ (Natural Fiber) เป็นเส้นใยที่ได้จากสิ่งมีชีวิตและสารประกอบบางชนิดใต้พื้นดิน

เส้นใยจากพืช (Vegetable Fiber)

-จากเมล็ด (Seed) ได้แก่ ฝ้าย (Cotton) นุ่น (Kapok) ฯลฯ

-จากลำต้น (Stem) ได้แก่ ลินิน (Linen) ปอกระเจา (Jute) ป่านรามี (Ramie) ฯลฯ

-จากส่วนก้านและใบ (Stalk & Leaf) ได้แก่ ป่านศรนาราย์ (Sisal hemp) ปอมนิลา (Abaca) ใยสับปะรด (Pina) ฯลฯ

-จากส่วนผล (Fruit) ได้แก่ ใยมะพร้าว (Coir)

-จากเปลือกและรากไม้ของพืชบางชนิด เช่น ต้นไม้กวาด (Broom)

เส้นใยจากสัตว์

-จากสารภายในร่างกายของสัตว์ (Animal Secretion) ได้แก่ ใยไหม (Silk)

-จากขนสัตว์ (Hair Fiber) ได้แก่ ขนอูฐ (Camel Wool) ขนแกะ (Cashmere Wool) ขนของ Alpaca ขนแพะชนิดละเอียด (Mohair)

เส้นใยจากแร่ธรรมชาติ (Mineral Fiber)

-จากแร่โลหะ ได้แก่ ทอง (Gold) เงิน (Silver) อ๊อกไซด์ของอลูมิเนียม (Aluminum)

-จากแร่อโลหะ ได้แก่ แร่ใยหิน (Asbestos)

2.เส้นใยสังเคราะห์ (Man-made Fiber) เป็นเส้นใยที่มนุษย์สร้างขึ้น แบ่งออกได้ดังนี้

-เส้นใยสังเคราะห์จากธรรมชาติ (Regenerated Fiber) เช่น วิสโคส (Viscose) เรยอน (Rayon) ไลโอ เซล (Lyocell) Cuprammonium rayon

-เส้นใยจากสารสังเคราะห์ (Natural Polymer) เช่น อาซิเตต (Acetate)

-เส้นใยสังเคราะห์จากสารอนินทรีย์ (Man-made Inorganic) เช่น ใยแก้ว (Glass) ใยสเตนเลส (Stainless Steel Fiber)

-เส้นใยที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นจากสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์ใช้ทดแทนเส้นใยจากธรรมชาติ แบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ คือ

  1. เส้นใยพอลิเอสเตอร์เช่น เทโทรอน ใช้บรรจุในหมอน เพราะมีความฟูยืดหยุ่นไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง สำหรับดาครอน (Dacron) เป็นเส้นใยสังเคราะห์พวกพอลิเอสเทอร์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า Mylar มีประโยชน์ทำเส้นใย เชือก และฟิล์ม
  2. เส้นใยพอลิเอไมด์ เช่น ไนลอน (Nylon) เป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์มีหลายชนิด เช่น ไนลอน 6,6 ไนลอน 6,10 ไนลอน 6 ไนลอนจัดเป็นพวกเทอร์มอพลาสติก มีความแข็งมากกว่าพอลิเมอร์ชนิดอื่น ไนลอนใช้ในการทำเสื้อผ้า ถุงเท้า ถุงน่อง ขนแปรงต่าง ๆ สายกีต้าร์ สายเอ็น ไม้แร็กเก็ต เป็นต้น
  3. เส้นใยอะคริลิก เช่น ออร์ใช้ในการทำเสื้อผ้า ผ้านวม ผ้าขนแกะเทียม ร่มชายหาด หลังคากันแดด ผ้าม่าน พรม เป็นต้น

สมบัติของเส้นใย

สมบัติของเส้นใยมีผลโดยต่อผ้าโดยตรง หากผ้าทำจากเส้นใยที่แข็งแรง ผ้าก็จะแข็งแรงทนทานด้วย หรือเส้นใยที่ดูดซับน้ำได้ดีจะส่งผลให้ผ้าสามารถดูดซับน้ำและความชื้นได้ดีเช่นกัน ซึ่งเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในส่วนที่ต้องสัมผัสกับผิวหรือดูดซับน้ำ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าอ้อม เป็นต้น

ดังนั้นการเข้าใจสมบัติของเส้นใยจะสามารถทำนายสมบัติของผ้า รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย ซึ่งจะช่วยให้เลือกชนิดของผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้นได้ถูกต้องตามความต้องการของการนำไปใช้งาน จากการคาดเดาองค์ประกอบที่แจ้งไว้ในป้ายสินค้า

ความแตกต่างของเส้นใยขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางกายภาพ องค์ประกอบทางเคมี และการเรียงตัวของโมเลกุล ซึ่งส่วนผสมและความแตกต่างในปัจจัยทั้งสามนี้ ทำให้เส้นใยมีสมบัติที่หลากหลายแตกต่างกัน สมบัติของเส้นใยก็จะมีผลต่อสมบัติของผ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยนั้น

สมบัติของเส้นใยที่มีผลต่อผ้า

1.สมบัติรูปลักษณ์ (Aesthetic Properties)

รูปลักษณ์ภายนอกของผ้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สิ่งทอว่ามีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้หรือไม่ ซึ่งสมบัติเหล่านี้ได้แก่ ความเป็นมันวาว การทิ้งตัวของผ้า เนื้อผ้า และสัมผัส

1.1 สมบัติความเป็นมันวาว (Luster) สมบัตินี้เกี่ยวข้องกับปริมาณแสงที่ถูกสะท้อนกลับโดยผิวหน้าของผ้า ซึ่งผ้าที่สะท้อนแสงมากจะมีความเป็นมันวาวมาก สมบัตินี้ขึ้นอยู่กับลักษณะผิวหน้าของเส้นใย ด้าย สารเติมแต่ง และโครงสร้างผ้า ผ้าไหมเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีความมันวาวสูง เนื่องจากเส้นใยไหมมีผิวหน้าที่เรียบและเป็นเส้นยาวต่อเนื่อง (Filament) การเลือกระดับของความมันวาวของผ้ามักขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน

1.2 การทิ้งตัวของผ้า (Drape) สมบัติการทิ้งตัวของผ้าเกี่ยวข้องกับลักษณะที่ผ้าตกลงบนรูปร่างที่เป็น 3 มิติ เช่น บนร่างกายหรือบนโต๊ะ ว่าสามารถโค้งงอตามรูปทรงที่ผ้าวางอยู่ได้มากน้อยเพียงใด ผ้าที่สามารถทิ้งตัวได้ดีก็จะดูอ่อนนุ่ม สามารถจัดเข้ากับรูปทรงได้ง่าย ส่วนผ้าที่ทิ้งตัวได้น้อยมักจะมีความแข็ง สมบัติเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความละเอียดของเส้นใย รวมทั้งลักษณะของเส้นด้ายและโครงสร้าง (การถักทอ) ของผ้าด้วย

1.3 เนื้อผ้า (Texture) เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องทั้งด้านที่มองเห็นด้วยตาและที่สัมผัสด้วยมือ ผ้าอาจจะมีผิวที่ดูเรียบหรือขรุขระ ผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติมักจะมีผิวที่ดูไม่สม่ำเสมอเมื่อเทียบกับผ้าที่ทำจากเส้นใยประดิษฐ์ที่มีผิวเรียบ สมบัติของเนื้อผ้าขึ้นอยู่กับความเรียบของผิวหน้าของเส้นใยและเส้นด้าย ลักษณะการถักทอผ้าและการตกแต่งสำเร็จก็มีผลต่อสมบัติเนื้อผ้าเช่นกัน

1.4 สมบัติต่อผิวสัมผัส (Hand) สมบัติต่อผิวสัมผัสเกี่ยวข้องกับความรู้สึกต่อผิวเมื่อสัมผัสกับเนื้อผ้า ผ้าแต่ละชนิดอาจให้ความรู้สึกเย็น อุ่น หนา บาง ลื่น หรือนุ่ม แตกต่างกันไป สมบัตินี้ขึ้นอยู่กับสมบัติผิวหน้าของเส้นใยและเส้นด้าย รวมทั้งโครงสร้าง (การถักทอ) ของผ้าด้วย

2.สมบัติความทนทาน

ความทนทานของผ้ามีผลต่ออายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ความทนทานของผ้าครอบคลุมทั้งสมบัติการทนต่อแรงเสียดสี (Abrasion Resistance) และแรงดึง (Tenacity)

2.1 สมบัติการทนต่อแรงเสียดสี เป็นสมบัติที่บอกถึงความสามารถของผ้าที่ทนต่อแรงขัดถูหรือเสียดสีที่มักเกิดขึ้นตลอดเวลาการใช้งาน โดยเฉพาะเสื้อผ้า นอกจากนี้ความสามารถในการพับงอไปมาโดยไม่ขาด (Flexibility) ก็เป็นสมบัติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความทนของผ้าเช่นกัน

2.2 สมบัติความทนต่อแรงดึง เป็นความสามารถของผ้าในการทนต่อแรงดึง ซึ่งความแข็งแรงนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของเส้นใยแล้ว ยังขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นด้ายและการขึ้นรูปเป็นผ้าด้วย

3.สมบัติความใส่สบาย (Comfort Properties)

สมบัติความใส่สบายเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของผู้สวมใส่ ขณะอยู่ภายใต้สภาวะสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมต่าง ๆ สมบัตินี้มีความซับซ้อนเพราะนอกจากจะขึ้นอยู่กับสมบัติของผ้าแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอีกปัจจัยที่สำคัญคือความรู้สึกพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์สิ่งทอนั้น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัว และทัศนคติของแต่ละคน อาทิ การดูดซับน้ำ (Absorbency) เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของเส้นใยในการดูดซับโมเลกุลของน้ำจากร่างกาย (ผิวหนัง) หรือจากอากาศรอบ ๆ

2. เส้นด้าย (Yarn)

ด้ายมีลักษณะเป็นเส้นยาวต่อเนื่อง ซึ่งประกอบจากเส้นใยหลายเส้นรวมกัน มีคุณสมบัติและคุณลักษณะ เหมาะสมที่จะนำมาใช้ด้านสิ่งทอ โดยเส้นด้ายแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ด้ายจากเส้นใยสั้น ด้ายจากเส้นใยยาว และด้ายผิวสัมผัส

1. ด้ายจากเส้นใยสั้น (Spun Yarn)

ประกอบด้วยเส้นใยสั้นที่ขึ้นเกลียว (Twist) เพื่อให้ยึดติดกันเป็นเส้นด้าย ผิวมักจะไม่เรียบเนื่องจากมีปลาย ของเส้นใยโผล่ออกมา

2. ด้ายจากเส้นใยยาว (Filament Yarn)

ประกอบด้วยเส้นใยยาว (Filament) ที่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยอาจมีการขึ้นเกลียวเพียงเล็กน้อย ผิวมีลักษณะเรียบ เส้นใยอาจมีลักษณะเป็นเส้นตรงเรียงกันหรือมีลักษณะฟู (Bulky) เนื่องจากการทำหยัก (Crimp) บนเส้นใยยาว สามารถจำแนกออกเป็นเส้นด้ายใยยาวเดี่ยว (Monofilament) และเส้นด้ายใยยาวหลายเส้น (Multifilament)

เส้นด้ายจากเส้นใยยาว เป็นเส้นด้ายที่มาจากเส้นใยประดิษฐ์หรือเส้นใยไหม มีความเงามันขึ้นกับชนิดเส้นใยและจำนวนเกลียว ไม่มีปัญหาเศษเส้นใยและปุ่มปมความแข็งแรงจะขึ้นกับชนิดเส้นใยยาวและจำนวนเส้นที่มารวมกัน ซึ่งความละเอียดของเส้นใยส่งผลต่อความนุ่มและการทนต่อการเสียดสี

3. ด้ายผิวสัมผัส (Texture Yarn หรือ Fancy Yarn)

เป็นเส้นด้ายที่ทำมาจากด้าย Multifilament จำพวก Thermoplastic Fibers เส้นด้าย Multifilament จะถูกนำมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการหยิกงอของเส้นใยหรือเกิดการฟูตัวเป็นห่วงซ้อน ๆ กัน ทำให้เส้นด้ายนี้พองตัว มีคุณสมบัตินุ่มและยืดหยุ่นได้ดี ผ้าที่ผลิตมาจาก Textured Yarn ให้สัมผัสที่นุ่มมือ ทึบแสง ดูดซับความชื้น และป้องกันการถ่ายเทความร้อนได้ดี ซึ่งจำแนกชนิดของด้ายผิวสัมผัสได้ดังนี้

3.1 เส้นด้ายยืด (Stretch Yarns) เส้นใยชนิดนี้ ยืดตัวได้มากและคืนตัวดีนิยมใช้เสื้อผ้ารัดรูป

3.2 เส้นด้ายพองฟู (Bulk Yarns) เส้นใยชนิดนนี้ ให้ความพองฟูยืดได้ปานกลางนิยมใช้ทำพรมและเสื้อผ้าที่ต้องการความอบอุ่น

3.3 เส้นด้ายยืดดัดแปลง (Modified Stretch Yarns หรือ Set Yarns) ลักษณะของเส้นด้ายชนิดนี้มีลักษณะคล้ายเส้นด้ายยืดและเส้นด้ายพองฟู

3. ผ้า (Fabrics)

โดยนิยามแล้วผ้าคือวัสดุที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบน สามารถผลิตจากสารละลาย เส้นใย เส้นด้าย หรือวัสดุพื้นฐานเหล่านี้รวมกัน เมื่อแบ่งแยกตามลักษณะการผลิตสามารถแบ่งประเภทของผ้าออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ ผ้าทอ ผ้าถัก และผ้าอื่น ๆ

ผ้าทอ (Woven Fabrics)

เป็นผ้าที่เกิดจากกระบวนการทอโดยใช้เครื่องทอ (Weaving Loom) โดยมีเส้นยืน (Warp Yarn) และเส้นพุ่ง (Filling or Weft Yarn) ที่ทอขัดในแนวตั้งฉากกัน และจุดที่เส้นทั้งสองสอดประสานกัน (Interlacing) จะเป็นจุดที่เส้นด้ายเปลี่ยนตำแหน่งจากด้านหนึ่งของผ้าไปด้านตรงข้าม การทอในปัจจุบันมีการพัฒนาจากการทอด้วยมือ (Handlooms) ไปเป็นการใช้เครื่องจักร โดยใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน เช่น Air-jet Loom, Rapier Loom, Water-jet Loom, Projectile Loom, Double-width Loom, Multiple-shed Loom, Circular Loom, Triaxial Loom

ประเภทของผ้าทอ

ผ้าทอแบ่งเป็นหลายชนิดขึ้นกับลักษณะการทอ เช่น Plain, Basket, Twill, Satin, Crepe, Dobby, Jacquard, Double Cloth, Pile, Slack-tension, Leno, และ Swivel

ผ้าถัก (Knitted Fabrics)

เป็นผ้าที่เกิดจากการใช้เข็ม (Needles) ถักเพื่อให้เกิดเป็นห่วงของด้ายที่มีการสอดขัดกัน (Interlocking Loops) โดยจะมีเส้นที่อยู่แนวตั้ง (Wales) และเส้นที่อยู่ในแนวนอน (Courses)

ประเภทของผ้าถัก

Filling-Knit Fabrics เช่น Jersey, Rib Structure, Interlock Structure, Purl Knits Warp Knit Fabrics เช่น Tricot Warp Knit, Raschel Warp Knit, Simplex, Milanese

ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Nonwovens)

ลักษณะโครงสร้างเป็นแผ่นผ้าที่เกิดจากการสานไปมาของเส้นใย (Fibrous Web) มีการยึดกันด้วยเส้นใยที่พันกันไปมา (Mechanical Entanglement) หรือการใช้ความร้อน เรซิน และสารเคมีเพื่อทำให้เกิดการยึดกันระหว่างเส้นใย

1.ผ้าทอ (Woven Fabric)

หมายถึงผ้าที่ใช้ด้ายพุ่ง (WEFT หรือ PICKS หรือ Filling) และด้ายยืน (WARP หรือ ENDS) มาขัดกัน การทำให้เส้นด้ายเกิดการขัด สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1.1 การทอลายขัด (Plain Weave) เป็นการทอผ้าโดยใช้ด้ายยืนและด้ายพุ่งขัดขึ้นลงเส้นต่อเส้น การทอผ้าลายขัดเป็นการทอผ้าที่ง่ายที่สุด ผ้าที่ทอจะมีความเหนียว ซึ่งแสดงได้ดังภาพด้านล่าง

1.2 การทอลายสอง (Twill Weave) ลักษณะเฉพาะของผ้าทอลายสอง คือ มีแนวเส้นทแยงมุมที่แบนราบติดผิวผ้า ขณะทอต้องสอดด้ายยืนและด้ายพุ่งให้ข้ามและเหลื่อมกัน เช่น ขัดกัน 2 เส้นและข้าม 1 เส้น ซึ่งแสดงได้ดังภาพด้านล่าง

1.3 การทอลายต่วน (Satin Weave) เป็นลักษณะการทอที่ต้องใช้เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืน ขัดกันน้อยที่สุด (ขัดกันอย่างน้อย 1 เส้นและเกิดการข้ามกันอย่าน้อย 4 เส้น) แสดงได้ดังภาพด้านล่าง ซึ่งคำศัพท์ที่มักจะได้ยินเกี่ยวกับผ้าทอลายต่วน มีดังนี้

  • SATIN = เส้นด้ายจะลอยในแนวเส้นด้ายยืน
  • SATEEN = เส้นด้ายจะลอยในแนวเส้นด้ายพุ่ง

รายงานคำอธิบายการออกแบบลายผ้าทอ (Weave Plan) ข้อมูลจากรายงานการวิจัยผ้าไทย ปีพ.ศ. 2556 โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center)

รายงานคำอธิบายการออกแบบลายผ้าทอ (Weave Plan) ประกอบด้วยคำอธิบายลายทอผ้าจำนวน 12 ลาย มีเนื้อหาครอบคลุมแนวทางการออกแบบ การเลือกใช้สี การเลือกใช้ขนาดเส้นด้าย การใช้เส้นด้ายแฟนซี กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และข้อจำกัดของการประยุกต์แบบกับการใช้ประโยชน์จากลายผ้าทอ

คำอธิบายลายที่ 1

  • ผ้าลายเพชร (Diamond Shape) เป็นการประยุกต์ลายสองหรือ Twill Weave ให้เกิดเป็นลวดลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีความพิเศษมากขึ้นด้วยการสลับลายเพชรกับลายสองเพื่อให้เกิดเป็นจังหวะ (Rhythm) ทำให้ผ้ามีความเคลื่อนไหวและน่าสนใจมากขึ้น พบว่ามีการใช้ลายนี้ในผ้าพื้นเมืองของหลายประเทศ

  • ผ้าลายเพชรไม่นิยมทอด้วยคู่สีมากกว่า 2 สี เพราะจะทำให้ลายที่ปรากฏไม่ชัดเจน มีบ้างที่ใช้ทอแบบลายริ้ว หรือการย้อมสีเส้นด้ายเหลือบ ซึ่งจะเกิดเป็นลายที่เห็นชัดเป็นเหลี่ยมเพชรเมื่อสีด้านยืนและพุ่งที่ต่างกันมากตัดกัน แต่จะไม่เห็นลายชัดเมื่อสีด้ายทั้งสองอยู่ในช่วงที่เป็นสีเดียวกัน

  • ผ้าลายนี้ไม่นิยมใช้เส้นด้ายต่างขนาด หรือเส้นด้ายแฟนซี เช่นด้ายที่มีปุ่มปม ด้ายที่มีขนปุย หรือด้ายพิเศษที่ไม่เรียบเพราะจะทำให้ไม่เห็นลวดลายชัดเจน

  • คู่สีที่นำเสนอมีทั้งหมด 10 คู่สี ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มสี คือ คู่สีแบบสีอ่อนเข้ม (Monotone) คู่สีแฟชั่น (Fashion)

  • คู่สีแบบสีอ่อนเข้ม (Monotone) เป็นคู่สีที่มีความใกล้เคียงกันมักจะเป็นสีกลางหรือสี Basic เช่นสีฟ้าอ่อนฟ้าเข้ม สีเทาสีดำ สีน้ำตาลอ่อนสีเทา เป็นต้น ผ้าที่มีคู่สีแบบอ่อนเข้มมักเป็นที่นิยม ถูกใช้ในเสื้อผ้าและสินค้าแต่งบ้าน เพราะสามารถนำไปผสมผสานกับสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ ได้ง่าย

  • คู่สีแฟชั่น (Fashion) เป็นคู่สีที่มีการคาดการณ์ว่าจะได้รับความนิยมในอนาคต เป็นสีที่สะดุดตาและดึงดูดความสนใจได้ดี ในแต่ละแบรนด์มักใช้คู่สีแฟชั่นในสินค้าประมาณ 15% ของสินค้าทั้งหมด คู่สีแฟชั่นที่จัดคู่คือคู่สีส้มและบานเย็น สีฟ้าน้ำทะเลและสีเขียว

คำอธิบายลายที่ 2

  • ผ้าทอเน้นผิวสัมผัส (Texture) เป็นผ้าที่ออกแบบเพื่อเลียนแบบผิวสัมผัสของธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ผิวของชั้นหิน ซึ่งเน้นสร้างความน่าสนใจของผิวสัมผัสผ้าเป็นหลัก ดังนั้นการเลือกใช้เส้นด้ายแฟนซี เช่น ด้ายที่มีปุ่มปม ด้ายที่มีขนปุย ด้ายที่มีสีผสม หรือด้ายพิเศษที่ไม่เรียบ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่จะทำให้เกิดความหลากหลายของผิวผ้า

  • การเลือกเบอร์เส้นด้ายพุ่งที่มีขนาดต่างกัน จะทำให้ผ้ามีเนื้อผิวขรุขระและน่าสนใจ

  • ปกติการใช้เส้นด้ายพุ่งด้วยด้ายเบอร์ขนาดต่างกัน มักใช้จำนวนซ้ำ ๆ กันหลายแถวสลับกันไป และควรเป็นการสลับที่ไม่เป็นรูปแบบเท่า ๆ กัน จะทำให้เกิดจังหวะของเนื้อผ้าที่น่าสนใจ ผ้าที่ทอลักษณะนี้มักถูกผลิตเพื่อใช้กับการตกแต่งบ้านแบบรีสอร์ท (Resort) หรือคันทรีสไตล์ (Country Style) แต่การใช้เส้นด้ายพุ่งต่างเบอร์มาพุ่งในจำนวนสลับที่เท่า ๆ กัน พบบ่อยในผ้าที่ผลิตเพื่อใช้ในสไตล์ของคนเมืองใหญ่หรือใช้ในสำนักงาน (Urban Office Style)

  • คู่สีที่ใช้สำหรับการตกแต่งบ้านแบบรีสอร์ท (Resort) หรือคันทรีสไตล์ (Country Style) ควรเป็นคู่สีที่เลียนแบบสีธรรมชาติ เช่น สีทุ่งหญ้า สีถ่านติดไฟ สีเปลือกไม้ฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น ผ้าที่ผลิตเพื่อใช้ในสไตล์ของคนเมืองใหญ่หรือใช้ในสำนักงาน (Urban Office Style) มักเป็นคู่สีกลาง ๆ อย่างสีเอิรท์โทน (Earth Tone) เช่น สีดิน ทราย หิน ขาว ดำ เทา น้ำตาล เป็นต้น

คำอธิบายลายที่ 3

  • ผ้าทอริ้วลายขัดสลับกับผ้าทอลายสอง เป็นผ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการตกแต่งอาคารบ้านเรือนโดยเฉพาะ ลายทอที่สร้างสีสลับอย่างริ้วหรือตารางขนาดใหญ่เหมาะกับการใช้ในการตกแต่งอาคาร การใช้ลายริ้วหรือตารางควรมีขนาดที่รับกัน หากเป็นการทอลายเล็กมักใช้ออกแบบในเสื้อผ้ามากกว่า

  • แผนการทอผ้าลักษณะนี้เป็นการสร้างความน่าสนใจโดยการใช้ลายทอต่างชนิดกันเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้เกิดมิติของผ้า และสร้างมิติของสีด้วยการใช้คู่สีที่ทำให้เกิดเป็นริ้วสีหรือตารางได้ด้วย

  • คู่สีที่เหมาะกับการทอแบบพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นคือคู่สีแบบสีอ่อนเข้ม เพื่อให้ผ้าที่ได้ใช้งานง่าย เรียบแต่สวย ซึ่งปกติลายทอตารางที่พบในไทยมักเป็นลายสก็อตแบบผ้าขะม้าหรือผ้าขาวม้าที่มีสีฉูดฉาดตัดกัน ดังนั้นถ้าจะสร้างความแตกต่างและยกระดับราคาสินค้าควรสร้างความแตกต่างด้วยการใช้สีเรียบ ๆ และใช้งานง่าย

คำอธิบายลายที่ 4

  • แผนการทอผ้าแบบผสมผสานเป็นการใช้ทั้งลายทอที่มาจากโครงสร้างการทอ เช่น ลายขัด ลายสอง และการใช้ลายผ้าที่เกิดจากลายมัดหมี่ ซึ่งจะเกิดความซับซ้อนของการสร้างลวดลายมากยิ่งขึ้น

  • การสร้างลวดลายมัดหมี่เฉพาะจุดพบได้น้อยในผ้าไทย การสร้างความซับซ้อนในการทอแบบนี้เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่ม

  • เมื่อมีลายทอที่ซับซ้อนแล้ว ควรลดบทบาทของสีให้มากที่สุดเพื่อให้จุดเด่นอยู่ที่ลายทอ คู่สีที่ใช้ควรเป็นสีธรรมดา เช่น ขาว-ดำ ดำ-เทา เป็นต้น

  • การเลือกใช้ขนาดเบอร์ด้ายที่ต่างกันอาจเหมาะกับการเน้นย้ำจุดเด่นในลาย แต่การใช้เส้นด้ายแฟนซีอาจทำให้ลายไม่ชัดเจน

คำอธิบายลายที่ 5

  • ลายทอกราฟฟิกวงกลมกับกากบาทจัดว่าเป็นลายทอที่แตกต่างจากลวดลายที่พบในไทย เป็นลายทอที่ออกแบบได้ซับซ้อน แต่ความจริงเป็นการเล่นลายที่เกิดจากการสลับสีด้ายยืนและด้ายพุ่งเท่านั้น

  • การใช้สีสำหรับลายแบบนี้ควรจะเริ่มต้นที่คู่สีพื้นฐานก่อน อย่างการใช้สีตัดกันอย่างดำ-แดง ขาว-ดำ หรือคู่สีแบบสีอ่อน-เข้ม เช่น สีน้ำเงินกับสีกรมท่า เป็นต้น

  • แต่ละคู่สีจะมีผลต่อสินค้าที่ต่างกัน เช่น สีอ่อน-เข้ม เหมาะสำหรับเสื้อผ้าและของแต่งบ้านที่มีความสุภาพและเป็นทางการ ในขณะที่คู่สีแบบตัดกันเหมาะสำหรับวัยรุ่น หรือนำไปตกแต่งอาคารที่มีความฉูดฉาด สะดุดตา

  • ลายทอนี้ไม่เหมาะกับการใช้เส้นด้ายแฟนซี

  • ลายนี้สามารถเลือกใช้เส้นด้ายต่างขนาดเพื่อสร้างลายให้เกิดเป็นลายนูนต่ำที่น่าสนใจ

คำอธิบายลายที่ 6

  • ผ้าทอสลับสี เป็นผ้าที่ออกแบบลายทอให้เกิดสีสลับกันโดยไม่มีแพทเทิร์นที่ชัดเจน กล่าวคือทุกสีจะมีความโดดเด่นไม่ต่างกัน การใช้สีแนวนี้มักพบในผ้าทอลายกระสอบ หรือ Tweed ซึ่งเป็นที่นิยมในอดีตจนถึงปัจจุบันพบมากในแบรนด์เนมชื่อดัง เช่น Chanel มักใช้ผ้าทอ Tweed เป็นเอกลักษณ์ประจำแบรนด์

  • เนื่องจากผ้าชนิดนี้นิยมทอแบบห่างกันและเนื้อผ้าไม่แน่นมาก จึงมักใช้เส้นด้ายเส้นใหญ่เพื่อสร้างผิวสัมผัสแบบกระสอบ

  • คู่สีแต่ละกลุ่มประกอบด้วย 5 สี โดยจะมีบางสีที่โดดเด่นต่างจากกลุ่มสีโดยรวมเพื่อไม่ให้สีโดยรวมน่าเบื่อมากจนเกินไป

  • กลุ่มสีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มสำหรับผู้ชาย เช่นสีขาว เทา ดำ กรมท่า ฟ้า น้ำตาล เป็นต้น และกลุ่มสีสำหรับผู้หญิง เช่น สีชมพู สีโอลโรส สีม่วง เป็นต้น

  • ผ้าชนิดนี้นิยมใช้เส้นด้ายแฟนซีที่มีปุ่มปม รอยหยัก หรือด้ายขน เพื่อให้เกิดความหนาและนุ่ม

  • ผ้าชนิดนี้ไม่นิยมมากนักในฤดูร้อน เนื่องจากผิวสัมผัสที่หนาและนุ่มฟู จะเหมาะกับสภาพอากาศหนาวมากกว่า

คำอธิบายลายที่ 7

  • ผ้าทอลายสลับโครงสร้างระหว่างลายขัดและลายสอง โดยลายสองเป็นสันนูนเด่นขึ้นริ้วตามแนวดิ่ง และสร้างสีเป็นริ้วตามแนวนอน ซึ่งทำให้ผ้ามีผิวสัมผัสที่เกิดจากโครงสร้างการทอ และมีลวดลายจากการเปลี่ยนสีด้ายพุ่ง

  • คู่สีแต่ละกลุ่มประกอบด้วย 5 สีโดยจะมีบางสีโดดเด่นต่างจากกลุ่มสีโดยรวม เพื่อไม่ให้สีโดยรวมน่าเบื่อมากจนเกินไป

  • กลุ่มสีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มสำหรับผู้ชาย เช่นสีขาว เทา ดำ กรมท่า ฟ้า น้ำตาล เป็นต้น และกลุ่มสีสำหรับผู้หญิงเช่น สีชมพู สีโอลโรส สีม่วง เป็นต้น

  • ผ้าชนิดนี้ไม่นิยมใช้เส้นด้ายแฟนซีที่มีปุ่มปม รอยหยัก หรือด้ายขน เพราะผิวสัมผัสของเส้นนูนดึงดูความน่าสนใจเพียงพอแล้ว

  • ผ้าชนิดนี้นิยมใช้เป็นผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากมีผิวสัมผัสที่แข็งแรงจากสันนูน และการไล่เฉดสีในด้ายพุ่งที่มีจำนวนเส้นแตกต่างกัน ทำให้ได้ผ้าที่โดยรวมเป็นสีอ่อน-เข้ม หรือเป็นสีที่มความน่าสนใจ (Accent Color)

คำอธิบายลายที่ 8

  • ผ้าทอลายนี้เป็นการเล่นเส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนแบบตัดกัน 2 สี เพื่อสร้างลายสก็อตแบบลวงตา หรือลายตารางที่ไม่เท่ากันแบบที่เห็นได้ทั่วไป

  • เนื่องจากผ้าชนิดนี้นิยมทอแบบห่าง ทำให้เนื้อผ้าไม่แน่นมาก จึงมักใช้เส้นด้ายเส้นใหญ่เพื่อสร้างผิวสัมผัสแบบกระสอบ

  • คู่สีแต่ละกลุ่มประกอบด้วย 2 สี โดยต้องจัดคู่สีให้ตัดกันพอควรเพื่อให้เห็นลายที่ชัดเจน ถึงแม้จะเป็นสีอ่อน-เข้ม ซึ่งสีที่ตัดกันผสมผสานกับลายลวงตาจะยิ่งเพิ่มจังหวะของลวดลายได้มากยิ่งขึ้น

  • กลุ่มสีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มสำหรับผู้ชาย เช่นสีขาว เทา ดำ กรมท่า ฟ้า น้ำตาล เป็นต้น และกลุ่มสีสำหรับผู้หญิง เช่น สีชมพู เหลืองมะนาว ม่วง เป็นต้น

  • ผ้าชนิดนี้นิยมใช้เส้นด้ายแฟนซีที่มีปุ่มปม รอยหยัก หรือด้ายขน เพื่อให้เกิดความหนาและนุ่ม

คำอธิบายลายที่ 9

  • ลายทอเลียนแบบลายมัดหมี่ เป็นการสร้างสรรค์ความทันสมัยให้กับลายมัดหมี่ที่เป็นลายพื้นบ้านของไทย จากการขยายขนาดของลายให้ใหญ่มากที่สุด ใช้สีให้เบสิคให้แฟชั่นมากที่สุด จะทำให้ลายพื้นเมืองดูไม่เชยและมีความทันสมัย

  • การเลือกเฉดสีเพียง 3 สีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผ้าดูทันสมัย ซึ่งผ้าพื้นเมืองทั่วไปมักใช้สีหลากหลายและโดดเด่นเกินไป

  • คู่สีที่เบสิคเหมาะสำหรับผู้ชาย เช่น สีดำ เทา ขาว น้ำตาล และน้ำเงิน ส่วนสีสำหรับผู้หญิง คือ สีเขียว แดง ส้ม และเหลือง

  • การเลือกใช้สีแฟชั่นต้องมีการใช้สีพื้นฐาน เช่น ดำ เทา น้ำตาล เป็นส่วนผสมเสมอ เพื่อไม่ให้ผ้ามีสีรวมกันแล้วใช้งานยากเกินไป

  • การเลือกใช้ด้ายแฟนซีสามารถทำได้ แต่ต้องจัดวางอย่างเป็นระเบียบและสม่ำเสมอ ซึ่งการใช้ด้ายแฟนซีที่ไม่มีแพทเทิร์นจะเป็นการแย่งจุดเด่นของลายผ้า

คำอธิบายลายที่ 10/1

  • ผ้าทอลายตารางลักษณะนี้พบมากในงานออกแบบของชาวตะวันตก ที่มีทั้งแบบทอเนื้อแน่นและเนื้อห่าง

  • ผ้าทอเนื้อแน่น มักนำมาตัดเป็นเสื้อสูทลำลองของชาวอังกฤษ ใช้งานเป็นแจ็คเก็ตแบบคันทรี ซึ่งทอจากฝ้ายหรือขนสัตว์

  • ผ้าทอเนื้อห่าง นิยมทำเป็นผ้าพันคอ ใช้เส้นด้ายฝ้าย ลินิน หรือขนสัตว์ ไม่นิยมเล่นขนาดเบอร์ด้ายที่แตกต่างกันและไม่ใช้ด้ายแฟนซี เพราะเส้นด้ายขนาดเดียวกันทั้งด้ายยืนและพุ่งจะส่งเสริมให้ได้ลายผ้าที่มีความคมชัดมากกว่า

  • คู่สีต้องตัดกันเพื่อให้เห็นลายที่ชัดเจน ซับซ้อน ให้แตกต่างจากลายผ้าต้นฉบับ

  • กลุ่มสีแต่ละกลุ่มแสดงรสนิยมของคนเมืองใหญ่ที่ทันสมัย แต่งกายแฟชั่น โดยมากควรผสมสีแฟชั่นเพียงสีเดียวกับมีสีเบสิค เช่น เทา ดำ น้ำตาล ซึ่งเป็นคู่สีที่ช่วยให้ผ้าพันคอใช้งานได้ง่ายมากขึ้น

คำอธิบายลายที่ 10/2

  • เป็นผ้าลายทอเดียวกันแต่ใช้ด้ายเพียง 2 คู่สี ทั้งด้านยืนและพุ่ง จะได้ผ้าพันคอที่เกิดลวดลายที่คมชัดเพียงสองสีเท่านั้น

  • นิยมทำเป็นผ้าพันคอ เนื่องจากผ้าทอที่ได้เนื้อค่อนข้างห่าง

คำอธิบายลายที่ 10/3

  • เป็นผ้าลายทอเดียวกันแต่ขยายขนาดลายเป็น 2 เท่า ให้เกิดลวดลายขนาดใหญ่ จากการเพิ่มจำนวนเส้นยืนและเส้นพุ่งเป็นสองเท่าต่อหนึ่งตำแหน่ง

  • ใช้ด้ายเพียง 2 คู่สี ทั้งด้านยืนและด้ายพุ่ง จะได้ผ้าพันคอที่เกิดลวดลายที่คมชัดเพียงสองสีเท่านั้น

  • ผ้าทอเนื้อห่างนิยมทำเป็นผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่ ไม่เหมาะสำหรับทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความคงทนจากการเสียดสี

คำอธิบายลายที่ 11

  • ผ้าทอลายนี้เป็นผ้าทอลายสก็อตหรือตาราง ออกแบบการเล่นเส้นด้ายพุ่งและด้ายยืนที่ต่างสีกัน จากการใช้ด้ายทั้งหมด 4 สี

  • ออกแบบจำนวนสีและการเรียงเส้นสีของด้ายยืนและด้ายพุ่งเหมือนกัน ถ้าจำนวนเส้นพุ่งและเส้นยืนที่มีสีชุดเดียวกันเท่ากัน จะได้ผ้าลายสก๊อตขนาดตารางเท่ากัน ในทางตรงกันข้ามหากใช้ด้ายพุ่งที่มีการเรียงสีเส้นด้ายและจำนวนที่ต่างจากกลุ่มด้ายยืน จะทำให้ได้ลายสก๊อตที่แตกต่าง

  • ผ้าชนิดนี้ส่วนใหญ่ใช้เส้นด้ายขนาดใหญ่ แต่ในบางครั้งก็ใช้เส้นด้ายเล็กสลับกับเส้นด้ายใหญ่ เพื่อให้เกิด Texture ที่มีความแตกต่าง

  • ผ้าชนิดนี้นิยมใช้เส้นด้ายแฟนซีที่มีปุ่มปม รอยหยัก หรือด้ายขน เพื่อให้เกิดความหนานุ่มและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

  • เนื่องจากผ้าชนิดนี้นิยมทอแบบห่าง โดยเนื้อไม่แน่นมาก เหมาะสำหรับทำผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่

  • คู่สีแต่ละกลุ่มประกอบด้วย 4 สี แบ่งเป็น 2 กลุ่มสี คือสีที่ใกล้เคียงกันเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และสีตัดกันเหมาะสำหรับวัยรุ่นหรือสายแฟชั่น

คำอธิบายลายที่ 12

  • ผ้าทอลายนี้ออกแบบลายคล้ายผ้ามัดหมี่ แต่เป็นการใช้เทคนิคสีด้ายแตกต่างกัน (Color Effect) เพื่อให้เกิดลายทอเหมือนฟันปลาที่ไม่ชัดเจน

  • วิธีการย้อมสีเส้นด้ายทำได้ทั้งวิธีการแบบมัดหมี่ คือการกำหนดลวดลายที่เฉพาะเจาะจงของแถบสีและรูปแบบการเรียงลายมัด ในขณะที่การย้อมแบบจุ่มเส้นด้ายบางส่วน เช่น การจุ่มย้อมเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของไจด้าย อาจทำให้ได้ลายผ้าที่มีรูปแบบไม่แน่นอน ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ชอบงานออกแบบที่มีความธรรมชาติในลักษณะนี้ ได้แก่ชาวญี่ปุ่นและยุโรป

  • ผ้าชนิดนี้นิยมทอแบบแน่น เส้นด้ายทอเป็นแบบเส้นเล็ก เหมาะสำหรับทำผ้าตัดเสื้อ

  • ผ้าชนิดนี้นิยมใช้เส้นด้ายแฟนซีที่มีปุ่มปม รอยหยัก หรือด้ายขน เพื่อให้เกิดความหนานุ่ม

  • คู่สีแต่ละกลุ่มประกอบด้วย 2 สี ซึ่งมีโทนสีใกล้เคียงกัน จะแตกต่างที่สีโทนอ่อนหรือแก่ โดยกลุ่มสีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มสำหรับผู้ชาย เช่น สีขาว เทา ดำ กรมท่า ฟ้า น้ำตาล เป็นต้น และกลุ่มสีสำหรับผู้หญิง เช่น สีชมพู เหลืองมะนาว ม่วง แดงอมชมพู เป็นต้น

2.ผ้าถัก (Knitted Fabric)

การถักผ้าเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตผ้า เส้นด้ายที่ใช้ในการถักจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของห่วง (Loop) เชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นผืนผ้า โดยกรรมวิธีการถักสามารถทำได้ 2 อย่าง คือ

  • การเปลี่ยนในแนวนอนหรือแนวขวาง (Weft Wise) หมายถึง การถักตามแนวนอน (Weft Knitting)
  • การเปลี่ยนในแนวดิ่ง (Warp Wise) หมายถึง การถักตามแนวดิ่ง (Warp Knitting)

2.1 การถักตามแนวนอนหรือแนวขวาง (Weft Knitting) เป็นกรรมวิธีที่นำเส้นด้ายคล้อง เป็นห่วง (Loop) ต่อกันตามแนวนอนหรือขวาง (Plain Knit) ซึ่งลักษณะของเส้นด้าย เป็นไปตามทิศด้านขวางที่ขัดกัน แสดงได้ดังภาพด้านล่าง

ผ้าถักตามแนวนอน (Weft Knitted Fabric) สามารถแบ่งชนิดผ้าถักได้เป็น

2.1.1 ผ้าถักแบบชั้นเดียว (Single Knits or Jersey Knits)

2.1.2 ผ้าถักแบบอินเตอร์ล็อค (Interlock Knits)

2.1.3 ผ้าถักแบบริบ (Rib Knits)

2.2 การถักตามแนวดิ่ง (Warp Knitting) เป็นการนำห่วงมาคล้องต่อกันตามทิศทางของแนวยืนหรือแนวดิ่งแบบสลับกัน ใช้เส้นด้ายหลายเส้นถักพร้อมกันเหมือนการทอ ดังภาพด้านล่าง จะนิยมใช้ทำเป็นชั้นใน สตรี ซึ่งตัวอย่างโครงสร้างผ้า เช่น ผ้าถักแบบทริคอท (Tricot Knit) ผ้าถักแบบราชล (Raschel Knit) ผ้าถักแบบมิลานิส (Milanese Knit) ผ้าถักแบบตาข่าย (Mesh Knit)

4.การย้อมสี (Dyeing)

การย้อมสี คือ การทำให้วัสดุอย่างเส้นด้ายหรือเส้นใยมีสีเหมือนกันทั้งผืนทั่วทั้งวัสดุ ซึ่งไม่ว่าจะสุ่มตัวอย่างจากส่วนไหนก็จะมีสีเหมือนกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าทางการค้าของผ้าให้สูงขึ้น ซึ่งได้แก่

-คุณค่าทางความรู้สึก เช่น มีสีแบบสมัยนิยม

-คุณค่าจากการใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ตัดเสื้อผ้าสำหรับใช้ในบ้านและในอุตสาหกรรม

-คุณค่าจากคุณสมบัติของชนิดผ้า ตามความประสงค์ของผู้ใช้ เช่น คุณสมบัติในการสวมใส่ ความทนทานต่อการซัก รีด คุณสมบัติในการทำเป็นเครื่องใช้ และคุณสมบัติในการเก็บ

-คุณค่าของผ้าจากคุณสมบัติของวัตถุดิบ เช่น เส้นใยฝ้าย ด้าย ผ้าทอหรือผ้าถัก

-คุณค่าด้านการสัมผัส ซึ่งสามารถตกแต่งได้หลายวิธี เพื่อเพิ่มความรู้สึกทางบวกให้ผู้ซื้อได้มากขึ้น เช่น การตะกุยขน การขัดมัน รวมทั้งการทนยับ กันน้ำและสะท้อนน้ำ

4.1 สีธรรมชาติ (Natural Dyes)

สีธรรมชาติ คือ สีที่ได้จากการสกัดวัตถุดิบจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ สามารถให้สีสันตามต้องการได้จากธรรมชาติ ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความสวยงามและมีสีสันหลากหลาย โดยมาก แหล่งวัตถุดิบสำหรับสีย้อมผ้าธรรมชาติที่ใช้จะอยู่ตามท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อเป็นการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาต่อไป ซึ่งสีย้อมธรรมชาติสามารถจำแนกตามแหล่งที่มาได้ดังนี้

1. สีย้อมธรรมชาติจากสัตว์ (Animal Dyes)

สีธรรมชาติจากสัตว์ คือ สีที่ได้จากสารที่ขับออกจากสัตว์ ในประเทศไทยมีการใช้สีจากแมลง ได้แก่ ครั่ง โดยตัวครั่งจะดูดน้ำเลี้ยงของต้นไม้แล้วขับสารสีแดงที่เรียกว่า “ยางครั่ง” หุ้มรอบตัวกลายเป็นรัง สารสีแดงนี้ได้นำมาใช้ย้อมสิ่งทอ ผสมอาหาร และใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท สำหรับเส้นใยที่ย้อมด้วยครั่งคือ ไหม ขนสัตว์ และฝ้าย มีความเชื่อว่าคุณภาพของสีทีได้จากการย้อมด้วยครั่งจะขึ้นกับชนิดของต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง

2. สีย้อมธรรมชาติจากแร่ธาตุ (Mineral Dyes)

เป็นสีที่เกิดจากสารประกอบของโลหะจำพวกเหล็ก โครเมียม ตะกั่ว แมงกานีส ทองแดง และอื่น ๆ ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีการใช้สีธรรมชาติจากแร่ธาตุในการย้อมสีสิ่งทอจากโคลนและดินแดง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีสารประกอบโลหะอยู่

3. สีย้อมธรรมชาติจากพืช (Vegetable Dyes)

สีย้อมจากพืชเป็นกลุ่มสีหลักของสีย้อมธรรมชาติ ซึ่งได้จากทุกส่วนของพืชตั้งแต่ราก เปลือก ลำต้น เนื้อไม้ ใบ ดอก ผล เมล็ด สามารถแบ่งโดยใช้กรรมวิธีการย้อมเป็นเกณฑ์ได้ 2 กลุ่มคือ

  • การย้อมแบบร้อน สีธรรมชาติที่ย้อมแบบร้อนจะได้จากพืชทั่วไปและครั่ง โดยนำวัตถุดิบมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วต้มให้เดือดเพื่อสกัดสารสีออกจากพืช จากนั้นทำการย้อมกับเส้นใยโดยใช้ความร้อนและใช้สารช่วยย้อมเพื่อให้สารสีติดกับเส้นใย

  • การย้อมเย็น หรือการย้อมแบบหมัก เป็นสีย้อมที่ได้จากพืช เช่น มะเกลือ ห้อม และคราม โดยไม่ใช้ความร้อน ใช้เพียงอุณหภูมิห้องและทำให้สีติดทนด้วยแสงแดด เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีทางธรรมชาติ ในการย้อมมีการใช้สารประกอบต่าง ๆ เป็นตัวช่วยให้เส้นใยดูดซับสีให้แน่นขึ้น มีความทนทานต่อแสงและการซัก เรียกกันว่า สารช่วยย้อมและสารช่วยให้สีติด หรือ มอแดนท์ (Mordant) สารเหล่านี้นอกจากเป็นตัวจับยึดสีและเพิ่มการติดสีในเส้นใยแล้วยังช่วยเปลี่ยนเฉดสีให้เข้ม จาง สดใส หรือสว่างขึ้นได้ นิยมใช้น้ำปูนใส น้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) กรด (มะนาว น้ำมะขามเปียก น้ำใบ/ฝักส้อป่อย) น้ำบาดาล น้ำโคลน (บ่อที่มีน้ำขังตลอดปี) ส่วนสารที่ช่วยให้สีติดคือ สารฝาด(พืชที่มีรสฝาดและขม) โปรตีนจากน้ำถั่วเหลือง และเกลือแกง เป็นต้น

4.2 สีสังเคราะห์ (Synthetic Dyes)

สีย้อมและการจำแนกประเภทของสีย้อมวัสดุสิ่งทอ

สารให้สี (Colourant) เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อสารให้สีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสารจากธรรมชาติหรือสารเคมีที่ก่อให้เกิดสี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติต่าง ๆ ให้กับงานตามความต้องการ เช่น สีย้อม (Dye) พิกเมนท์ (Pigment) หมึกพิมพ์ (Toner) เป็นต้น

การที่มนุษย์มองเห็นวัตถุที่มีสีแตกต่างกัน เนื่องจากวัตถุนั้นมีสารให้สีผสมอยู่ เมื่อมีแหล่งกำเนิดแสง อย่างแสงไฟหรือแสงแดดไปกระทบ วัตถุจะดูดกลืนคลื่นแสงบางส่วนเอาไว้และจะปล่อยแสงที่เหลือออก ซึ่งแสงที่ปล่อยออกเป็นแสงสเปกตรัมต่าง ๆ ที่สายตามนุษย์สามารถมองเห็นได้

ตารางแสดงสเปกตรัมของแสงตามความยาวของคลื่น

สมบัติของสีย้อมสิ่งทอ

สำหรับสีย้อมที่จะนำมาใช้งานในการย้อมหรือพิมพ์นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • มีความเข้มของสีสูง (Colour Strength) คำนวณจากสมการของ Kubelka-Munk ดังนี้ K/S = (1-R)2/2R โดยที่ R คือค่าการสะท้อนแสง (Reflectance) ที่วัดได้จากเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ ซึ่งถ้าค่า K/S สูง นั่นหมายความว่าผ้าที่ย้อมสีออกมาจะมีสีเข้ม

  • สามารถละลายน้ำได้หรือเปลี่ยนให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ ตัวอย่างสีที่สามารถละลายน้ำได้ เช่น สีไดเร็กท์ (Direct Dye) สีรีแอคทีฟ (Reactive Dye) สีแอสิด (Acid Dye) และสีเบสิก (Basic Dye) ส่วนสีดิสเพิร์ส (Disperse) เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ โดยสีย้อมชนิดนี้ต้องนำมาผสมกับสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เพื่อให้อยู่ในรูปสารแขวงลอยในน้ำ และมีน้ำเป็นตัวกลาง (Media) ในการพาสีเข้าสู่เส้นใย

  • ความสามารถในการดึงดูดและยึดติดเส้นใย

  • ความคงทนของสีต่อการใช้งาน เช่น ความคงทนของสีต่อการซัก น้ำ เหงื่อเทียม แสง และการขัดถู

  • ให้ความปลอดภัย สะดวกต่อการใช้งาน และมีราคาที่เหมาะสม

การจำแนกสีย้อมสิ่งทอ

การจำแนกชนิดของสีย้อม (Dye Classification) ตามแหล่งกำเนิด สามารถแบ่งออกเป็นสีย้อมจากธรรมชาติ (Natural Dyes) และสีย้อมสังเคราะห์ (Synthetic Dyes)

ตารางการจำแนกสีย้อมเคมีตามการใช้งานในการย้อมเส้นใย

1. สีแอสิด (Acid Dyes)

เป็นสีที่ใช้ย้อมเส้นใยโปรตีน ได้แก่ Wool, Silk รวมถึงเส้นใยสงเคราะห์อย่าง Polyamide ที่เรียกชื่อ Acid Dyes เพระสีแรก ๆ ที่ย้อมต้องทำในอ่างที่มีกรดแร่หรือกรดอินทรีย์อยู่ สีส่วนมากเป็นเกลือโซเดียมของกรดอินทรีย์ (Organic Acid) และส่วนที่เป็นสีคือ Anion (-) ซึ่งทำให้สี Acid มี Affinity โดยตรงต่อเส้นใยโปรตีน แต่ถ้าเป็นสีแอสิดบางตัวที่มีสูตรโครงสร้างเหมือนสีไดเร็กท์ จะใช้ย้อมเส้นใยเซลลูโลสได้ อีกทั้งยังให้สีที่สุกใสในช่วงกว้างมาก หากเลือกสีที่เหมาะสมจะได้สีที่มีความคงทนต่อแสงดีมาก โดยคุณสมบัติทางด้านความคงทนของสีแต่ละตัวของสีประเภทนี้จะแปรผันโดยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของสี กลุ่มที่มีอิทธิพลในการละลายของสีแอสิดคือ -SO3Na ถ้ามีปริมาณมาก การละลายก็จะสูงขึ้นด้วย ส่วน -SO3Na จะมีตั้งแต่ 1 - 4 Group ลักษณะโครงสร้างทางเคมีของสีแอสิด ที่สำคัญคือ Azo, Nitro, Anthraquinone และ Triphenylmethane เป็นต้น

ความสำคัญของกรด (Effects of Acids)

กรดเป็นตัวสำคัญในการย้อมสีแอสิด เพราะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมของสีและช่วยให้ติดสี

อิทธิพลของเกลือ Electrolytes (Effect of Electrolytes)

ในการย้อมเส้นใยเซลลูโลสด้วยสีไดเร็กท์ เกลือที่ใช้อย่าง NaCl, Na2SO4 (Glauber’s Salt) จะทำหน้าที่เป็น Exhausting Agent แต่เกลือเหล่านี้ซึ่งเป็น Electrolytes ในการย้อมสีแอสิดจะทำหน้าที่เป็น Levelling Agent ในอ่างย้อม ทำให้สีที่ย้อมเรียบอย่างสม่ำเสมอ ไม่ด่าง เพราะเป็นตัว Retandant ช่วยชะลอการจับของโมเลกุลของสีบนเส้นใยจึงทำให้การจับติดเป็นไปอย่างช้าและสม่ำเสมอ

อิทธิพลของอุณหภูมิ (Effect of Temperature)

อุณหภูมิมีบทบาทสำคัญในการย้อมเส้นใยโปรตีน และเส้นใยที่เกี่ยวข้องด้วยสีแอสิด เพราะอัตราการดูดซึมของสีแอสิดขึ้นกับอุณหภูมิ มีการทดลองและพบว่าอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส ไม่มีการดูดซึมของสีเข้าไปในเส้นใย ซึ่งหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น การดูดซึมก็จะดีขึ้นตาม จึงควรพิจารณาช่วงของอุณหภูมิในการย้อมสีผสมด้วย สำหรับสีในกลุ่ม Acid Milling Dyes มีกฎในการปฏิบัติว่าไม่ควรย้อมที่อุณหภูมิต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส หากย้อมตั้งแต่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะทำให้การถ่ายเทของสีจากน้ำย้อมไปยังเส้นใยเกิดขึ้นได้เร็ว อัตราการดูดซึมในช่วงนี้จะเร็วจึงควรระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจทำให้การย้อมเกิดความด่าง

โดยทั่วไปแล้วการย้อมจะให้ผลดีที่สุดประมาณ 40 องศาเซลเซียส และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึงจุดเดือด ซึ่งสีแอสิดที่โมเลกุลกระจายตัวในน้ำย้อมได้สม่ำเสมอและมีกำลังในการเคลื่อนตัวดีในอุณหภูมิที่สูงขึ้น เพราะไอออน (Ion) ของสีมีขนาดเล็ก สามารถเข้าออกจากเส้นใยได้ง่าย

2. Basic Dyes

สีที่สังเคราะห์ได้เป็นอันดับแรกโดยนาย Perkin’s Mauve ทำให้สีติดเส้นใยได้โดยการใช้กรดแทนนิคในสารละลายที่อุ่น เส้นใยฝ้ายมีความว่องไวต่อกรดอ่อนเช่นเดียวกับสี Basic ดังนั้นกรดแทนนิคจะช่วยยึดเกาะระหว่างสีกับเส้นใย เป็นการเพิ่ม Water-fastness ด้วย การทำให้กรดเปลี่ยนเป็นเกลือแอนติโมนีโดยการทำปฏิกิริยากับ Tartar Emetic ซึ่งแอนติโมนีที่ได้จะไม่มีสีและไม่มีผลต่อความเข้มของสี

สี Basic ประยุกต์มาจากเปลือกไม้จำพวกยาง ทำให้สีติดบนเส้นใยฝ้าย โดยย้อมในที่ร้อนและใช้กรดอะซิติกเป็นสารช่วย เมื่อย้อมแล้วต้องทำให้มีความร้อนลดลงอย่างช้า ๆ เพื่อให้สีติดได้มากขึ้น ถ้าต้องการย้อมสีที่มีความเข้มปานกลาง (1%) การเพิ่มคุณสมบัติความคงทนต่อการซักให้ดีขึ้น โดยใช้กรดแทนนิคและ Tartar Emetic สีนี้มีความคงทนต่อแสงได้ไม่ดี แต่มีความคงทนต่อการขัดสีพอใช้ได้

สี Basic เป็นสีที่แสดงประจุบวกซึ่งสามารถละลายน้ำได้ โดยจะเกิดแรงดึงดูดระหว่างขั้วบวกและลบ ซึ่งสีที่มีประจุลบนี้ไม่สามารถผสมกับสีกลุ่มอื่นได้

3. สีไดเร็กท์ (Direct Dyes)

สีไดเร็กท์ เป็นสีที่มี Substantive Colour เพราะว่าสีสามารถดูดซึมและย้อมติด (Substantive) เส้นใยเซลลูโลสอย่างฝ้าย (Cotton) วิสโคส เรยอน (Viscose Rayon) คิวปราโมเนียม เรยอน (Cuprammonium Rayon) และยังมีสีไดเร็กท์อีกหลายชนิดที่สามารถย้อมเส้นใยโปรตีนได้

สีไดเร็กท์เป็นสีที่มีประจุลบ (Canionic) สามารถดูดซึมและย้อมติดเซลลูโลส สามารถย้อมในสีที่มี Electrolyte สารประกอบทางเคมีหรือสีไดเร็กท์ส่วนใหญ่อยู่ใน Class ของ Sulphonated Azo Compounds ซึ่งอาจเป็น Monaazo-, Diazo-, TriaZo- หรือ Polyazo- หรืออาจจะเป็นพวกที่ Devived มาจาก Stilbene, Oxazine, Thiazole หรือ Phthalocyanine Compounds

การย้อมสีไดเร็กท์

คุณสมบัติสีไดเร็กท์

สีไดเร็กท์เป็นสีที่ใช้ง่าย ราคาถูก ระดับสีกว้าง แต่มีคุณสมบัติติดคงทนต่ำ นอกจากจะทำการย้อมทับ (Aftertreatment of Direct Dyes) การตกแต่งให้คงทนต่อการยับด้วยเรซินจะช่วยทำให้สีคงทนยิ่งขึ้น สีไดเร็กท์ส่วนมากใช้ย้อมเส้นใยฝ้าย วิสโคสเรยอน ซึ่งในการย้อมต้องใช้ Electrolyte เพื่อให้ประจุภายในเส้นใยลดลงหรือหายไป โดยสีนี้มีการดูดซึมได้ดีที่อุณหภูมิต่างกันแล้วแต่โครงสร้างของสี เพราะฉะนั้นก่อนการใช้จำเป็นต้องอ่านคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตด้วย

อิทธิพลที่มีผลต่อการย้อม

1.อิทธิพลของ Electrolyte (Effect of Electrolyte)

การเติม Electrolyte จะช่วยลดประจุของเส้นใยให้หมดไป เป็นการทำให้ Dye Ion สามารถเข้าใกล้เส้นใยและอยู่ในช่วงที่ทำให้เกิด Hydrogen Bonding และ Van der Waals’ Tone ได้ดี โดยสาร Electrolyte นิยมใช้ NaCl, Na2SO4

2.อิทธิพลของอุณหภูมิ (Effect of Temperature)

การเพิ่มอุณหภูมิเป็นการเพิ่ม Kinetic Energy ให้แก่โมเลกุล ช่วยเพิ่มอัตราเร็วในการย้อมให้ถึงภาวะสมดุล กล่าวคือสีจะค่อย ๆ เข้าเส้นใยในอุณหภูมิต่ำ และเข้าอย่างรวดเร็วเมื่ออุณหภูมิสูง ดังนั้นการย้อมที่อุณหภูมิสูงจะทำให้สีติดไม่สม่ำเสมอและความเข้มลดลง ดังนั้นต้องค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ

ในการย้อมที่อุณหภูมิจำกัด สามารถเกิดเป็นกระบวนการได้ 2 อย่าง คือ การเคลื่อนย้ายสีจากสารละลายไปยังผ้าและการเคลื่อนย้ายจากผ้าไปยังสารละลาย

3.อิทธิพลของอัตราส่วนวัสดุที่ต้องการย้อมต่อน้ำย่อม (Effect of Liquor Ratio)

เปอร์เซนต์การดูดซึมสีจะเกิดขึ้นขณะที่เกิดความเข้มของสีในการย้อม สีจะมีความเข้มข้นคงที่เมื่อ Liquor Ratio คงที่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และ ฎlectrolyte ด้วย

4.อิทธิพลของ pH Value (Effect pH Value)

สีไดเร็กท์ส่วนใหญ่จะย้อมในสภาวะเป็นกลาง ถ้าในสภาวะเป็นกรดอาจทำให้ Shade สีเปลี่ยนไป ส่วนภาวะด่างอ่อนอาจย้อมได้บ้าง แต่จะมี Retanding Effect ต่อ Rate of Absorption การเติม Na2CO3 อาจเติมได้ถึง 3% เพื่อลดความกระด้างของน้ำ หรือช่วยในการละลายสี เนื่องจากโครงสร้าง Divect Dye เป็น Sodium Salt ของกรด Sulphonic การเกิดปฏิกิริยาอาจไม่สมบูรณ์ ในการเตรียมสีจึงนิยมใส่ Na2CO3 เพื่อเปลี่ยน Sulphonic Acid ที่เหลือให้เป็น Sodium Salt ของกรด

ความคงทนของสี direct

สีในกลุ่มนี้มีความคงทนไม่สูงมากต่อ Washing, Wet Treatment Processes, Scouring และ Dealgination ใช้ย้อมกับเส้นด้าย ซึ่งจะรวมกับขนสัตว์ในการย้อมแบบ Cross-dyeing ไม่ได้ ความคงทนต่อแสงอยู่ในระดับปานกลาง วิธีที่ใช้ในการเพิ่มความคงทนต่อการซักฟอก คือการทำ Aftertreatment หลังการย้อม จะช่วยเพิ่มน้ำหนักโมเลกุลของสีหลังจากถูกดูดซึมเข้าไปในเส้นใย ทำให้ละลายน้ำได้น้อยลงและทนทานต่อ Wet Treatment ได้มากขึ้น

4. Reactive Dyes

Reactive Dyes เป็นสีย้อมที่สามารถทำปฏิกิริยาให้เกิดพันธะเคมีกับเส้นใยในภาวะที่เหมาะสมได้ โดยอาศัย Alkali ทำให้เกิดการ Form Bond ระหว่างสีและเส้นใยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดผลของปฏิกิริยาในทางย้อนกลับได้ สี Reactive จึงเป็นสีที่ย้อมง่ายและทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการย้อมแบบ Exhaustion, Semi Continuous หรือ Continuous จะให้ผลการย้อมที่ Bright และมีความทนทานต่อการซักใกล้เคียงกับสี Vat ส่วนในด้านงานพิมพ์จะให้สีสดใสและมี Wet Fastness สูง อีกทั้งยังมี Shade ของสีต่าง ๆ ให้เลือกครบ ราคาไม่แพงเกินไป แต่ Reactive Dyes เป็นสีที่ว่องไวต่อการถูก Hydrolysis ซึ่งเกิดจากน้ำ โดยมีหมู่ Active Group ในสีที่จะเข้าทำปฏิกิริยากับน้ำ ซึ่งทำให้สีสูญเสียสภาพของการเป็นสีย้อม โดยสามารถแบ่งตามการใช้งานตามอุณหภูมิที่ใช้ย้อมได้ 2 ชนิด ดังนี้

1.สีย้อมเย็น ได้แก่ สีย้อมที่ใช้อุณหภูมิในการย้อมประมาณ 20-40 องศาเซลเซียส เนื่องจากต้องย้อมสีชนิดนี้ที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งสีย้อมจะมีการเคลื่อนตัวจากน้ำย้อมเข้าไปในเส้นใยได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องใช้สีที่มีแรงดึงดูดกับเส้นใยมากนัก ปริมาณเกลือที่ใช้ก็น้อย แต่ต้องระมัดระวังการใส่เกลือเพราะสีในกลุ่มนี้ติดเส้นใยได้เร็ว สีที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ สี Procion M/MX (ICI), Levafix EA (Bayer) และ Cibacron F (Ciba)

2.สีย้อมร้อน ได้แก่ สีย้อมที่ใช้อุณหภูมิในการย้อมประมาณ 60-80 องศาเซลเซียส สีประเภทนี้ต้องย้อมที่อุณหภูมิสูง สีย้อมจะมีการเคลื่อนตัวจากน้ำย้อมเข้าไปได้น้อย เพราะฉะนั้นควรเลือกใช้สีที่มีแรงดึงดูดกับเส้นใยอยู่ในเกณฑ์สูง แต่การย้อมที่อุณหภูมิสูงนี้มีข้อดี คือ ทำให้ย้อมได้อย่างสม่ำเสมอและมีการแทรกซึมของสีเข้าไปในเส้นใยได้ทั่วถึงกว่าสีกลุ่มอื่น ซึ่งสีที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Procion H (ICI), Remazol (Hoechst)

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณสมบัติในการย้อมสี Reactive

  1. ความว่องไวของสีต่อการเกิด Interaction ซึ่งขึ้นอยู่กับ Reactive System ในสีแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ บางส่วนอาจเกิดจาก Linking Group ระหว่าง Reactive System กับ Chromophore

  2. Affinity ของสีต่อเส้นใย ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสีย้อมและชนิดของเซลลูโลส สีย้อมที่มี Affinity สูงจะมี Levelling ต่ำ โดยส่วนของสีที่ไม่เกิดปฏิกิริยากับเส้นใยจะกำจัดออกยาก ส่วนสีย้อมที่มี Affinity ต่ำจะมีความสามารถในการละลายดี สีย้อมในส่วนที่ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับเส้นใยจะถูกกำจัดออกง่าย มักให้สีที่สดใส ทั้งนี้เพราะเป็นสีที่มีโครงสร้างเล็ก น้ำหนักโมเลกุลน้อย

  3. Dyeing Temperature การย้อมที่อุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดปฏิกิริยาดังนี้

    -อัตราการย้อมสูงขึ้น Diffusion เกิดเร็วขึ้น

    -Equilibrium of Exhaustion ลดลง

    -อัตราการเกิดปฏิกิริยาระหว่างสีย้อมกับเส้นใยเร็วขึ้น แต่ปฏิกิริยาระหว่างสีกับน้ำก็เกิดได้มากขึ้นด้วย

  4. Liquor Ratio เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเข้มข้นของสีในน้ำ การย้อมที่มี L:R ต่ำ จะทำให้อัตราการย้อมสูงขึ้น และ Equilibrium of Exhaustion สูงขึ้น

  5. Electrolytes ความเข้มข้นของ Electrolyte มีผลโดยตรงต่อ Substantivity มักทำให้ Substantivity เพิ่มขึ้น อัตราการย้อมและ Equilibrium of Exhaustion สูงขึ้น

  6. Dyebath pH สี reactive ทำปฏิกิริยาได้ทั้งกับ OH-Group บนเส้นใยและกับ OH- ในน้ำย้อม จะทำให้อัตราการเกิด Fixation และ Hydrolysis เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามที่ pH > 12 Ionization ของเซลลูโลสเกิดขึ้นมากจนถึงระดับที่ทำให้เกิดแรงผลักกับ Dye Anion มากขึ้น จนเป็นเหตุให้การดูดซึมสีและการ Fix สีลดลง

  7. ชนิดของเซลลูโลส

    Cotton < Mercerized cotton < Regenerated cellulose

    ประสิทธิภาพของการย้อมสี Reactive พิจารณาได้จากอัตราส่วนระหว่างสีที่ Fixed กับปริมาณสีที่ใช้ พบว่าไม่ถึง 1 หรือ 100% สาเหตุเพราะ

    -สีย้อมไม่ถูกดูดซึมได้หมดในเส้นใย

    -สีย้อมบางส่วนถูกทำลายไปด้วยการเกิด Hydrolysis

    -สีย้อมบางส่วนสูญหาย เนื่องจาก Interaction ระหว่างสีกับเส้นใยถูกทำลายใน Fixation Stage ของการย้อมหรือพิมพ์

5. สีแวต (Vat Dyes)

สี Vat เป็นสีที่ใช้ย้อมเส้นใยเซลลูโลส ให้ความคงทนต่อสภาวะต่าง ๆ ได้ดี เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งมีหลักการใช้งาน ดังนี้

  1. Vatting ในขั้นนี้สีแวตที่ไม่ละลายน้ำจะถูกทำให้ละลายโดยการ Reduce ด้วย Sodium Hydrosulphite และ Sodium Hydroxide

  2. Dyeing ขั้นนี้ Sodium Salt ของ Leuco Vat จะถูกดูดซึมโดยเส้นใย โดยมี Retarding Agent หรือ Exhaustion Agent อยู่ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราเร็วของการติดสีของเส้นใย

  3. Oxidation ในขั้นตอนนี้ Sodium Salt ของ Leuco Vat ซึ่งถูกดูดซึมโดยเส้นใยจะถูกทำให้เปลี่ยนกลับ (Recovery) ไปเป็นสีแวตรูปเดิมที่ไม่ละลายน้ำโดย Oxygen ในอากาศหรือ Treat ด้วยสารเคมีกลุ่ม Oxidising Agent

  4. Altertreatment ในขั้นนี้การย้อมจำเป็นต้องได้รับการ Treat ด้วย Boiling Soap หรือสารละลายของ Detergent อื่น ๆ เพื่อให้ได้ Shade สีที่เฉพาะ (Proper Shade)

6. สีซัลเฟอร์ (Sulphur Dyes)

ลักษณะสำคัญของสีกลุ่มนี้คือ ทุกชนิดจะมี “Sulphur Linkage” อยู่ในโมเลกุล โดยปกติแล้วสีนี้จะไม่ละลายน้ำหรือละลายได้เพียงเล็กน้อย แต่จะละลายในสารละลายของโซเดียมซัลไฟล์ (Sodium Sulphide) โซเดียมซัลไฟล์จะทำหน้าที่เป็น Reducing Agent ทำให้โมเลกุลของสีแตกตัวออกที่ Sulphur Lingage เป็นองค์ประกอบย่อยที่ละลายน้ำได้ และ Substantive ต่อเส้นใยเซลลูโลส

คุณสมบัติทั่วไปของสีซัลเฟอร์

สีซัลเฟอร์มีราคาถูกและมีกรรมวิธีการย้อมง่าย มีความคงทนต่อน้ำดีมาก ความคงทนต่อแสงปานกลาง แต่มีความคงทนต่อคลอรีนต่ำ ไม่เหมาะกับวัสดุที่ต้องการฟอกขาวด้วย Hypochlorite ระดับสีมีค่อนข้างจำกัด ค่อนข้างทึบและด้านในสภาวะที่อยู่ในรูป Leuco แล้วจะมีคุณสมบัติในการย้อมคล้ายกับสีไดเร็กท์ การดูดซึมสีจะดีขึ้นเมื่อใช้ Electrolyte และการดูดซึมจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิที่ใช้ย้อม ซึ่งจะสลายตัวด้วยกรด โดยให้ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟล์ (H2S) ออกมาและให้ตะกอนที่ไม่ละลายน้ำด้วย

7. สีดิสเพิส (Disperse Dyes)

สีดิสเพิสเป็นสีที่สังเคราะห์ขึ้นจากความพยายามในการหาวิธีย้อมเส้นใยเซลลูโลสอะซิเตต ซึ่งเป็นเส้นใยประดิษฐ์ประเภทแรกที่มีความมัน เหมาะสำหรับทำเป็นผืนผ้า

กลไกการย้อม

  1. การกระจายตัวของสีในอ่างย้อม (Dispersion of dyes in dye bath)
  2. การละลายของโมเลกุลสีในน้ำ (Dissolution of single-molecule in water) หรือ Dissolving Rate
  3. การเกาะติดกับพื้นผิวของเส้นใย (Adsorption to fiber surface) หรือ Absorption Rate
  4. การแพร่กระจายของสีเข้าไปภายในเส้นใย (Diffusion into fiber inside) หรือ Diffusion Rate

ตามปกติมักคิดว่าในขั้นตอนที่ 4 หรือ Diffusion Rate เป็น Dyeing Rate ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่เฉพาะ Diffusion Rate เท่านั้น เพราะมีการกำหนดปริมาณน้ำที่ใช้ในการย้อมสี ความสามารถในการกระจาย (Dispersibility) และความสามารถในการละลายของสี (Solubility of The Dyestuff) เป็นสิ่งสำคัญมากต่อ Dyeing Rate

คุณสมบัติเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของการย้อมเป็นสิ่งที่นักย้อมสีทุกคนต้องการ ในกรณีที่ย้อมแล้วผลที่ได้เกิดความไม่สม่ำเสมอ อาจเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสีย้อม ซึ่งเป็นสาเหตุมาจาก Dyeing Rate ของสีมีค่ามากกว่าความสามารถของ Dyeing Machine ที่จะทำให้เกิดความสม่ำเสมอ จึงต้องศึกษาถึงความสามารถของเครื่องก่อน
  2. ความแตกต่างของ Shade สี (Shade Difference) สังเกตได้จากการผสมสี ซึ่งมีอัตราการย้อมต่างกันเข้ารวมกัน รวมถึงความสามารถของสีในการที่จะรวมกับสีอื่น ๆ ด้วย (Compatibility)

Compatibility

สี Disperse ที่มี Dyeing Rate เหมือนกันเมื่อผสมกันจะเปรียบเสมือนใช้สี Disperse เพียงตัวเดียว อย่างไรก็ตามสีที่มี Chemical Structure คล้ายกันผสมกัน จะทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน หากสีเหมือนกันผสมกันหรือเมื่อความเข้มข้นเปลี่ยนไปแต่ Concentration Dependency ของสีเหล่านั้นจะยังคงอยู่

ภาวะของกระบวนการย้อมสีที่ให้ความสม่ำเสมอที่ดี

  1. มีการกระจายของอุณหภูมิใน Dyeing Machine แบบสม่ำเสมอ
  2. การหมุนเวียนของสารละลายในอ่างย้อมเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
  3. มีการกระจายของสีสม่ำเสมอ

คุณสมบัติของสีดิสเพิส

  1. เป็นพิกเมนต์ที่ละลายน้ำได้เพียงเล็กน้อยที่อุณหภูมิห้อง แต่ละลายได้ดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าในการละลายมีสารจำพวก Surface Active Agents รวมอยู่ด้วยจสามารถละลายได้ดีใน Organic Solvents เช่น อะซิโตน แอลกอฮอล์ เป็นต้น

  2. คุณสมบัติที่มีความสำคัญมากสำหรับสีดิสเพิส คือ ความคงทนต่อความร้อน (Fastness to Heat Treatments) สีดิสเพิสที่ผลิตขึ้นในระยะแรกจะมีโครงสร้างโมเลกุลง่าย ๆ สามารถระเหิดได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน แม้แต่ความร้อนแห้งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 130 0C หรือในไอน้ำที่มีความดันปกติ ส่วนสีที่ผลิตขึ้นในระยะหลังที่ใช้ย้อมโพลีเอสเตอร์ จะมีความคงทนต่อความร้อนมากขึ้น กล่าวคือ ที่อุณหภูมิสูงกว่า 200 0C หรือในไอน้ำที่ความดันสูงกว่า 25 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว จะไม่มีการระเหิด หรืออาจมีการซึมออกมาเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามคุณสมับติในการระเหิดของสีดิสเพิสเป็นข้อดีที่จะนำไปใช้ในการพิมพ์แบบ Transfer Printing แต่ข้อเสียคือไม่สามารถใช้สีกับผ้าที่ระเหิดไม่ได้ ในการทำ Heat Treatments เช่น การอัดจีบ (Pleating) หรือการตกแต่งสำเร็จด้วยเรซิน (Resin Finishing)

    วิธีการปรับปรุงความคงทนต่อการระเหิดของสีดิสเพิสสามารถทำโดยการเพิ่มน้ำหนักโมเลกุล ซึ่งวิธีการนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในการย้อมให้สม่ำเสมอ และการให้ความเข้มข้นของสี ในทางปฏิบัติสีบางชนิดจะใช้ย้อมโพลีเอสเตอร์ที่อุณหภูมิสูง หรือโดยวิธี Thermofixation เท่านั้น และบางตัวใช้ได้เฉพาะการย้อมโดยวิธี Thermofixation เท่านั้น

  3. สีดิสเพิสบางชนิด เช่น สีน้ำเงินที่มีโครงสร้างเป็น Anthraquinone จะจืดจางหรือเปลี่ยนสีได้ง่ายในบรรยากาศที่มีไอของก๊าซจากถ่านหรือไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของก๊าซไนโตรเจนกับออกซิเจนที่ผิวร้อนแดงของลวดไฟฟ้า เรียกสาเหตุอันนี้ว่า “Gas Fading”

  4. คุณสมบัติความคงทนต่อแสงและต่อการซักของสีดิสเพิส โดยทั่วไปส่วนใหญ่อยู่ในขั้นดี เพื่อให้ได้ Good Fastness Properties ดังนั้นควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

    4.1 การเติม Dispersing Agent จำนวนเล็กน้อย จะช่วยให้ได้ High Degree of Exhaustion

    4.2 การย้อมที่ใช้เวลานาน ทำให้แน่ใจว่าได้ Rubbing Fastness ที่ดีขึ้น

    4.3 หากใช้เวลาในการย้อมไม่นาน จะทำให้การย้อมมีความสม่ำเสมอต่ำ

    4.4 ถ้าย้อมโดยใช้ Liquor Ratio สูง ๆ (มากกว่า 40:1) ให้คำนวณ Dispersing Agent ตามน้ำหนักของ Material ไม่ขึ้นกับปริมาตรของน้ำย้อม

    4.5 ถ้าในกระบวนการย้อมมีการเพิ่มเวลา ควรเติม Dispersing Agent ลงไปอีกเล็กน้อย

8. สารเรืองแสง, Optical Brightening Agent (OBA)

Optical Brightening Agent (OBA) หรือ Fluorescent Brightening Agent (FBA) เป็นสารที่ดูดกลืนแสง UV ในช่วงความยาวคลื่น 330 - 380 nm. และปล่อยแสงในช่วงความยาวคลื่น 430 - 490 nm. (The Blue Region of The Visible Spectrum) สาร OBA จะใช้สำหรับแก้ปัญหา Yellowish ที่เกิดบนผ้า นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมการทำสบู่ สารซักฟอก กระดาษ พลาสติก และสิ่งทอ

ลักษณะสำคัญของ OBA

  1. มีลักษณะเป็น Planar และมี Conjugate System สามารถดูกลืนแสง UV และปล่อยแสง Blue ออกมา
  2. จะต้องมี Substantivity กับ Fiber
  3. Non-toxic
  4. Heat Resistance
  5. Good Light Fastness
  6. Resistance to Bleaching Powder
  7. มีหมู่ที่เป็น Electron-donating Group เช่น -OH, -NH2
  8. OBA จะใช้กับ Cotton เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจใช้กับ Wool, Nylon, Synthetic Fiber

5. การตกแต่งสำเร็จ (Textile Finishing)

คือ กระบวนการที่ทำให้วัสดุสิ่งทอมีคุณสมบัติดีขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ ทั้งกระบวนการทางเคมีและทางกายภาพเพื่อปรับปรุงวัสดุสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นการลดจุดด้อยหรือเพิ่มจุดเด่นให้กับสิ่งทอ

การตกแต่งสำเร็จเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการผลิตสิ่งทอ ถือได้ว่าเป็นอีกขั้นตอนที่รวมอยู่ใน Wet Processing แต่บางครั้งก็อาจไม่จำกัดใน Wet Process เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ การตกแต่งอาจปฏิบัติภายหลังที่ผ้าถักทอหรือถักออกมาเพื่อปรับปรุงแก้ไข ซึ่งทำให้ผ้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ อาทิ

  • ให้คุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งาน
  • ทำให้เกิดความสวยงาม เช่น ทำให้เกิดลาย สี และความมันเงา
  • ทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษา
  • เพื่อรักษาขนาดรูปทรง
  • การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผ้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด

ดังนั้นสามารถแยกกระบวนการตกแต่งออกเป็น 2 ประเภท ตามกลไกการทำงานของการตกแต่ง คือ การตกแต่งเชิงกล และการตกแต่งเชิงเคมี

การตกแต่งเชิงกล (Mechanical Finishing)

เป็นการตกแต่งสิ่งทอโดยใช้หลักทางเชิงกลและฟิสิกส์ โดยใช้เครื่องจักรเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของสิ่งทอ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. การตกแต่งแบบชั่วคราว เป็นการตกแต่งที่คุณสมบัติต่าง ๆ ให้ใช้ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น หากนานไปคุณสมบัติจะกลับสู่สภาพเดิม เช่น การเผาขน การตัดขน เป็นต้น

2. การตกแต่งแบบถาวร เป็นการตกแต่งที่คุณสมบัติให้คงอยู่กับผ้าอย่างถาวร เช่น การทำให้เกิดขน (ตะกรุยขน) การอัดลวดลายลงบนผ้า (ใยสังเคราะห์) เป็นต้น

การตกแต่งเชิงเคมี (Chemical Finishing)

การตกแต่งทางเคมี เป็นการตกแต่งโดยใช้สารเคมีเป็นตัวช่วย อาจมีการรวมกับการตกแต่งเชิงกลเพื่อเพิ่มคุณภาพอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งลักษณะการตกแต่งทางเคมีสามารถตกแต่งให้ผ้ามีสมบัติดังนี้

  1. การทำให้เกิดสีและลวดลาย (การย้อมและการพิมพ์)
  2. การทำให้เกิดปฏิกิริยาเฉพาะด้าน

-การตกแต่งให้ผ้านุ่ม

-การตกแต่งให้ผ้าทนยับ

-การตกแต่งให้ผ้าแข็ง

-การตกแต่งให้ผ้ากันไฟ

-การตกแต่งให้ผ้าสะท้อนน้ำ

-การตกแต่งให้ผ้ากันแมลง

-การตกแต่งให้ผ้ามีกลิ่มหอม

ตัวอย่างการตกแต่งสำเร็จด้วยสารเคมี ได้แก่

  • การตกแต่งในการลดน้ำหนัก (Weight Reduction)

เป็นการตกแต่งด้วยการลดน้ำหนักของผ้า โดยการนำผ้าไปแช่ในสารละลายโซดาไฟแล้วอบแห้ง ผ้าที่ได้จะมีความนุ่ม โปร่งและเบามากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ผู้บริโภคสวมใส่สบาย นอกจากนี้ยังมีความเงาคล้ายผ้าไหม นิยมใช้กระบวนการตกแต่งนี้กับเส้นใยสังเคราะห์โดยเฉพาะโพลีเอสเตอร์ เนื่องจากเส้นใยนี้มีสัมผัสค่อนข้างแข็ง ไม่นุ่ม ไม่เหมาะกับการใช้งานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า

  • การตกแต่งให้นุ่ม (Soft Finish)

เป็นการตกแต่งสำเร็จให้ผ้ามีผิวนุ่มน่าสัมผัส เหมาะกับการใช้งานกับผ้าที่ต้องสัมผัสผิวของผู้ใช้ เช่น เสื้อผ้า ชุดกีฬา เป็นต้น สารที่ใช้ในการตกแต่งให้นุ่มมีหลายประเภท ที่นิยมในปัจจุบันจะใช้สารสังเคราะห์พวกซิลิโคน (Silicone) สารฟลูออโรเรซิน เป็นต้น

  • การตกแต่งขาว (Optical Brightening Agent (OBA) Finish)

การตกแต่งขาวหรือการย้อมขาว เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผ้าขาวโดยเฉพาะผ้าใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ในบางครั้งสิ่งเจือปนที่มีตามธรรมชาติอาจยังไม่ขาวพอแม้จะผ่านการฟอกขาวหรือการทำความสะอาดมาแล้วก็ตาม การตกแต่งขาวทำโดยใช้สารเรืองแสง เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษคือตัวสารจะสามารถดูดซึมรังสี UV ที่มาตกกระทบและปล่อยรังสีนั้นกลับออกมาในช่วงของรังสีแสง ส่วนมากจะเป็นแสงสีฟ้า ฟ้าออกม่วง ฟ้าออกเขียว หรือฟ้าออกแดง ดังนั้นผ้าไม่เพียงแต่จะมีความขาวเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความสว่างสดใสเป็นพิเศษอีกด้วย

  • การตกแต่งต้านการลามไฟ (Flame-retardant Finish)

เป็นการตกแต่งเพื่อให้ผ้าต้านการลามไฟ หรืออีกนัยหนึ่งคือติดไฟยากเมื่อสัมผัสกับเปลวไฟหรือความร้อนสูง สารที่ตกแต่งต้านการลามไฟมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มฮาโลเจน (Halogen-based) กลุ่มฟอสฟอรัส (Phosphorus) กลุ่มอนินทรีย์ (Inorganic salt) กลุ่มไนโตรเจน (Nitrogen) แต่ที่นิยมและผ่านการรับรองความปลอดภัยจะเป็นสารกลุ่มฟอสฟอรัส (Phosphorus) และกลุ่มอนินทรีย์ (Inorganic salt) ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับการตกแต่งต้านการไฟกับวัสดุสิ่งทอมาก จนมีการออกกฏหมายบังคับใช้สำหรับวัสดุสิ่งทอที่ใช้ในบ้านเรือนและโรงแรม

  • การตกแต่งต้านการยับ (Anti-crease Finishes)

ผ้าบางชนิดจะยับง่ายเมื่อผ่านการซักหรือการสวมใส่ การตกแต่งต้านการยับจะช่วยให้ผ้ามีคุณสมบัติคืนตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะผ้าเส้นใยเซลลูโลส อย่างผ้าฝ้าย เรยอน หรือ T/C เป็นต้น สารเรซินที่ใช้ในการตกแต่งกันยับจะเป็นพวก “Methylon Carbamate” และ “Dihydroxy – Diethylon Ethylene Urea – (DHDMEU)”

  • การตกแต่งต้านการหด (Shrinkage Proofing Finishes)

เป็นการตกแต่งเพื่อป้องกันการหดและการเสียรูปทรงที่เกิดขึ้นระหว่างการซักและการรีด การตกแต่งต้านการหดนับได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นโดยเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง

  • การตกแต่งสะท้อนน้ำ (Water Repellent Finish)

ปัจจุบันมีหลายวิธี ทั้งวิธีทางกายภาพ อย่างการดัดแปลงพื้นผิวเส้นใยโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมา หรือวิธีทางเคมี อย่างการการเคลือบผิวเส้นใยด้วยสารที่มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ (Hydrophobic) ได้แก่ สารเคมีพวกพาราฟิน แว็กซ์ ซิลิโคน และสารประกอบฟลูออโรคาร์บอน เช่น เทฟล่อน (Polytetrafluoroethylene) เป็นต้น

  • การตกแต่งกันไฟฟ้าสถิต (Anti-static Finish)

การเกิดไฟฟ้าสถิตย์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเส้นใยสังเคราะห์ผ้าผืนที่มีการใช้ความเร็วในการผลิตสูง เพราะส่วนของพื้นผิวจะเกิดไฟฟ้าสถิตจากแรงเสียดสี และจะถ่ายเทประจุไปซึ่งกันและกัน ที่พบบ่อยได้แก่ ในโรงปั่นด้าย โรงทอผ้า และในโรงฟอกย้อมผ้า ในส่วนของเครื่อง stenter ที่ม้วนผ้าเข้า A-flame เป็นต้น สารตกแต่งต้านไฟฟ้าสถิตย์จัดเป็นสารเคมีที่เติมลงในเส้นใยหรือผืนผ้าเพื่อลด การสะสมของประจุสถิตย์ทางไฟฟ้า (electrostatic charges) สารตกแต่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสารที่ดูดความชื้น (Hygroscopic) ซึ่งได้แก่ สารลดแรงตึงผิว เกลือของสารอินทรีย์ ไกลคอล โพลีเอทิลีนไกลคอล เกลือแอมโมเนียมชนิดจตุรภูมิ (quaternary ammonium salts) ฟอสเฟตเอสเทอร์ประเภทสารอินทรีย์ เป็นต้น

  • การตกแต่งกันมอด (Anti-moth Finishes)

ผ้าขนสัตว์และผ้าที่ผลิตจากใยที่มีเคราติน (keratin) เป็นส่วนประกอบ ตัวมอดชอบกิน ดังนั้นจำเป็นต้องตกแต่งกันมอด สามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน วิธีหนึ่งเป็นการใช้สารเคมีที่กันมอดได้มาอาบเส้นใยไว้ อีกวิธีหนึ่งเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของเคราตินภายในเส้นใย เป็นต้น

  • การตกแต่งให้ทนเปื้อน (Soil Release Finishes)

การตกแต่งแบบนี้จะทำให้เส้นใยเกิดความ ต้านทานไม่ให้สิ่งสกปรกมาเกาะติดได้ เช่น น้ำมันหรือ น้ำสกปรกต่างๆ เหมาะสำหรับการตกแต่งผ้ากันเปื้อน ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋าผ้า เป็นต้น

  • การตกแต่งต้านแบคทีเรีย (Antibacterial Finishes)

สารที่ใช้ในการตกแต่งต้านแบคทีเรียมีทั้งธรรมชาติอย่างไคโตซาน และสารสังเคราะห์อย่างนาโนซิงค์ออกไซค์ และซิลเวอร์ออกไซค์ การตกแต่งจะไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนและการเจริญของแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ อาการคัน เกิดกลิ่นเหม็น เป็นต้น

  • การตกแต่งผ้าให้มีกลิ่นหอม (Perfume Microencapsulated Finishes)

ใช้เทคโนโลยีไมโครเอ็นแคบซูลเลชั่น ซึ่งประกอบด้วยสาร 2 ส่วนที่สำคัญ คือ สารที่เป็นแกนข้างในจะเป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชหรือจากการสังเคราะห์ ส่วนที่ห่อหุ้มหรือเปลือกจะเป็นสารจากขี้ผึ้ง แวกซ์ หรือโพลียูรีเทน เมื่อนำมาตกแต่งสำเร็จบนผ้าแล้วเกิดการขัดถู เปลือกที่ห่อหุ้มน้ำมันหอมระเหยจะแตกออก ทำให้กลิ่นระเหยออกมา เหมาะสำหรับเสื้อผ้า ชุดทำงาน ชุดสปา เป็นต้น

6. การพิมพ์ (Textile Printing)

การพิมพ์ผ้า คือ การผลิตสิ่งทอที่ได้มีการออกแบบลายและสีไว้ล่วงหน้า โดยจะให้สีเฉพาะแห่งในขอบเขตของลายที่จำกัดเพื่อให้เกิดลวดลายต่าง ๆ การพิมพ์เพื่อให้ได้ผ้าพิมพ์ที่มีคุณภาพดี ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเลือกใช้สี สารเคมี แป้งพิมพ์ เทคนิคในการเตรียมแป้งพิมพ์ สีพิมพ์ การผสมสีพิมพ์ ตลอดจนการเลือกแบบพิมพ์ วิธีที่ใช้ลำดับขั้นตอน และสภาวะการพิมพ์ให้ถูกต้อง การพิมพ์ผ้าแบ่งได้เป็น 6 แบบ ดังนี้

1.การพิมพ์แบบไดเร็กท์ (Direct) เป็นงานพิมพ์ที่พิมพ์ลงบนผ้าโดยตรง โดยใช้วัตถุดิบและสารเคมีที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิต

2.การพิมพ์แบบรีซิสท์ (Resist) เป็นการพิมพ์แบบกันสี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากลักษณะที่คล้ายกันคือ งานบาติก เป็นการพิมพ์โดยพิมพ์แป้งพิมพ์ที่มีสารกันสีแล้วนำผ้าที่เสร็จแล้วไปย้อมสีต่อ

3.การพิมพ์แบบดิสชาร์จ (Discharge) เป็นการพิมพ์แป้งพิมพ์ที่ผสมสารเคมีประเภทสารฟอกสีลงไปบนผ้าย้อมสีเพื่อให้เกิดเป็นลายพิมพ์ หลังจากผ้าพิมพ์ได้ผ่านกระบวนการอบและซักแล้ว จะเห็นลักษณะลายพิมพ์ที่สวยงาม งานพิมพ์ประเภทนี้จะไม่เห็นรอยต่อของลายพิมพ์ในเวลาที่พิมพ์แล้วบล็อกเคลื่อน สามารถดูงานจากด้านในตัวเสื้อจะเห็นลายพิมพ์ทะลุออกมาทางด้านหลังผ้า เพราะสารเคมีที่ใช้จะกัดสีผ้าจนทะลุออกมาด้านหลังลายพิมพ์

4.การพิมพ์แบบกัดลอกลาย (Burn out) เป็นการพิมพ์แบบใช้สารเคมีเข้าไปทำลายเส้นใยผ้าเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม นิยมใช้กับการพิมพ์ผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใย Polyester และ Cotton โดยในการพิมพ์แป้งพิมพ์ที่ผสมสารเคมีที่ทำลายเส้นใย Cotton จะไปทำลายเส้นใยหลังจากนำผ้าที่พิมพ์ไปผ่านกระบวนการอบและซักจะเห็นช่องว่างของเส้นใยที่ถูกทำลายไปเหลือแต่เส้นใย Polyester

5.การพิมพ์แบบถ่ายลายลงบนผ้า (Transfer Printing) เป็นการพิมพ์สีพิมพ์ใส่วัสดุประเภทกระดาษแล้วนำกระดาษที่พิมพ์แล้วมารีดใส่ผ้าโดยใช้ลูกกลิ้งความร้อน ในการผลิตจะใช้เครื่องพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์งานพลาสติก แต่ในการพิมพ์ผ้าจะใช้กระดาษแทนพลาสติก

6.การพิมพ์แบบ Digital Print เป็นการพิมพ์งานที่ใช้เครื่องพิมพ์ที่มีลักษณะคล้าย Printer ของคอมพิวเตอร์แต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยในกระบวนการผลิตต้องนำผ้ามาทำ Treatment ก่อนนำไปเข้าเครื่องพิมพ์ ซึ่งกระบวนการจะคล้ายกับการพิมพ์ผ้าหลาในแบบข้างต้น ต่างกันตรงที่ผ้าต้องไปลามิเนตแป้งพิมพ์บนผ้าก่อนทำให้แห้ง แล้วจึงนำผ้าที่ได้ไปเข้าเครื่องพิมพ์เพื่อพ่นสีใส่ผ้าให้เกิดเป็นลวดลาย ผ้าชนิดนั้นต้องผ่านการอบไอน้ำและการซักเพื่อขจัดคราบเคมีบนผ้าออก จึงสามารถนำไปให้ลูกค้าได้


เสน่ห์ไทยบนผืนผ้า

ศิลปะภูมิปัญญาไทยบนผืนผ้าที่ถักทองดงามอย่างละเอียดประณีต ได้บอกเล่าถึงคติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ผ่านสีสันและลวดลายมาแต่โบราณ นับเป็นมรดกที่ตกทอดมานานนับศตวรรษ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้มีการทดสอบคุณสมบัติของผ้าไทยตั้งแต่เส้นใยจนเป็นผืนผ้า เป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าใจโครงสร้างของผ้า สไตล์ของผู้สวมใส่ รวมถึงกลุ่มการตลาดที่มีความสนใจ เพื่อเผื่อในอนาคตจะมีแบรนด์ใหม่หรือมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่มที่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงและจับต้องได้

เนื้อหาและรูปภาพในรูปแบบดิจิทัลนี้ได้จัดเก็บและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยผ้าไทย ปีพ.ศ. 2556 โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) หรือ TCDC ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของผ้าไหมและผ้าย้อมคราม เนื่องจากผ้าทั้งสองชนิดเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้แพร่หลาย และมีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด

เสน่ห์ไทยบนผืนผ้าแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

(1) ผ้าไหม-ผ้าย้อมคราม

(2) คติและความเชื่อเกี่ยวกับผ้าไทย

(3) ข้อมูลผ้าไทยเชิงกายภาพและการผลิต

(4) กระบวนการทดสอบสิ่งทอ

ส่วนที่ 4 การทดสอบสิ่งทอ (Textile Testing)

คือการวัดค่าสมบัติของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น ความแข็งแรงของผืนผ้าต่อแรงดึง ขนาดเบอร์ด้าย ความคงทนของสี เป็นต้น ในขณะที่ การตรวจสอบ (Textile Inspection) เป็นการประเมินคุณสมบัติหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์สิ่งทอว่ามีคุณภาพหรือสมบัติตามความต้องการของลูกค้าหรือตรงตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่

การทดสอบและตรวจสอบผลิตภัณฑ์สิ่งทอมีหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งสามารถสรุปวัตถุประสงค์รวมถึงเหตุผลของการทดสอบสิ่งทอได้ดังต่อไปนี้

1. เพื่อตรวจสอบและคัดเลือกวัตถุดิบ

เมื่อมีการสั่งซื้อวัตถุดิบสำหรับนำเข้าสู่กระบวนการผลิต จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและคัดเลือกคุณภาพให้เหมาะสมสำหรับกระบวนการต่อไป เพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะเกิดระหว่างขั้นตอนการผลิต

2. ตามข้อกำหนดของกฎหมายและข้อบังคับ

กฎหมายของแต่ละประเทศมีมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยจะแตกต่างกันออกไป การส่งออกหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจำเป็นต้องทดสอบตามมาตรฐานฉบับนั้น ๆ หากทดสอบไม่ผ่านตามระดับหรือเกณฑ์ที่ประเทศนั้นกำหนดจะไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้าเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศนั้นได้ ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษามาตรฐานของประเทศที่ต้องการส่งออกให้ถี่ถ้วน

3. เพื่อตรวจสอบและควบคุมระหว่างขั้นตอนการผลิต

การตรวจสอบระหว่างขั้นตอนการผลิตช่วยให้ทราบถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เพื่อจะได้หยุดกระบวนการก่อนผลิตภัณฑ์จะเสียหายหรือไม่มีคุณภาพ การทดสอบควรปฏิบัติเป็นระยะตลอดกระบวนกาผลิต เพราะจะทำให้ติดตามการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. เพื่อประเมินลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ได้ก่อนส่งมอบ

เป็นการทดสอบคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ว่ามีสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้ก่อนสั่งผลิต เพื่อยืนยันคุณภาพก่อนการส่งมอบและตรวจรับสินค้า

5. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมคุณภาพสุดท้ายก่อนส่งลูกค้า

ในกระบวนการนี้เป็นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนส่งมอบให้ลูกค้า ช่วยทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์สุดท้าย จะถูกต้องตามความต้องการของลูกค้าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมาตรการที่ใช้ในการตัดสินใจต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง มิฉะนั้นอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ

6. เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ

ในกรณีที่พบข้อบกพร่องในผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้นั้น ทางผู้ผลิตสามารถหาสาเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการผลิตจากการทดสอบแต่ละกระบวนการ เมื่อตรวจพบต้นเหตุของข้อพกพร่องแล้วจะช่วยให้กำจัดปัญหาและปกป้องการเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตได้

7. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวิจัย

เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การทดสอบเพื่อเป็นการเปรียบเทียบสมบัติของผลิตภัณฑ์เมื่อมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่แตกต่าง ทำให้ทราบถึงขั้นตอนหรือวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

การทดสอบสิ่งทอสามารถจำแนกได้ดังนี้

1. การทดสอบสิ่งทอทางฟิสิกส์ (Physical Testing) เป็นการทดสอบทางกายภาพ สามารถจำแนกออกได้ดังนี้

  • ด้านโครงสร้าง อย่างขนาดของเส้นด้าย ความหนา น้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่ และความหนาแน่นของผืนผ้า
  • ด้านความแข็งแรง อย่างความแข็งแรงต่อแรงดึง ความแข็งแรงต่อการฉีกขาด และความแข็งแรงต่อแรงดันทะลุ
  • ด้านสมรรถนะความคงทนต่อการใช้งาน อย่างความคงทนต่อการขัดถู การหดตัว และการคืนตัวต่อรอยยับ

2. การทดสอบสิ่งทอทางเคมี (Chemical Testing) เป็นการทอสอบสิ่งทอหากมีการใช้สารเคมี รวมถึงทดสอบด้วย เช่นกัน

  • ความคงทนของสีต่อ (Color Fastness to) แสง การซัก การขัดถู น้ำคลอรีน เป็นต้น
  • การเปลี่ยนสี (Fading of Dyed Fabrics)
  • การเสื่อมสลายตัว (Degradation of Dyed and Undyed Fabrics)

3. การทดสอบสิ่งทอทางชีวภาพ (Biological Testing) เป็นการทดสอบประสิทธิภาพของวัสดุสิ่งทอต่อการเกิดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น ผลของสารชีวภาพต่อวัสดุสิ่งทอ อาจก่อให้เกิดกลิ่น (Odour) ที่ไม่พึงประสงค์ หรือเกิดการติดเชื้อบริเวณผิวสัมผัส

4. การทดสอบสิ่งทอจากสิ่งที่เห็น (Visual Examination) เป็นการทดสอบโดยอาศัยสายตาในการมองเห็น หรือมีผู้ประเมินผลการทดสอบ ดังนี้

  • เนื้อผ้า (Texture) และลักษณะพื้นผิว (Surface Characteristics)
  • สีต่าง ๆ (Dye Shade Variations)
  • รูปแบบโครงสร้างการทอ แบบ ลวดลาย โครงสร้างผ้าและรายละเอียดอื่น ๆ (Weave Patterns, Design, Fabric Construction, Details and others)
  • การขึ้นขน (Pilling Assessment)
  • กล้องจุลทรรศน์ SEM (Scanning Electron Microscope) หรือกล้องอื่น ๆ เป็นต้น

5. การทดสอบเฉพาะทาง (Intelligence Testing) เป็นการทดสอบเฉพาะทางสำหรับวัสดุสิ่งทอที่นำไปใช้ในงาน จัดอยู่ในประเภท Smart Textile หรือสิ่งทออัจฉริยะ ที่ใช้งานนอกเหนือจากการเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เช่นการนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ อาทิ

  • อากาศยาน (Aerospace)
  • ขนส่ง (Transportation )
  • เคหะ (Homes)
  • ก่อสร้าง (Buildings)
  • โครงสร้าง (Infrastructures)

ตัวอย่างของการทดสอบสิ่งทอเหล่านี้ อย่างความสามารถในการป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Shielding) หรือความสามารถในการป้องกันหรือลดทอนเสียง เป็นต้น

6. การทดสอบสิ่งทอทางสรีระวิทยา (Physiological Testing) เป็นการทดสอบสิ่งทอที่สัมผัส หรือเกี่ยวข้องกับร่างกายเรื่องความรู้สึกในการสวมใส่ เช่น

  • Heat Transmission
  • Moisture Transport
  • Air Permeability

ข้อกำหนดทั่วไป (General Require)

ผู้ผลิตสิ่งทอและผู้ประกอบการควรเตรียมตัวและเตรียมพร้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าด้วย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสินค้าจะตรงมาตรฐานตามที่กำหนดของแต่ละประเทศ โดยรายการที่ทดสอบสามารถจำแนกได้ 2 ชุดการทดสอบ คือ การทดสอบที่จำเป็น และการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์

1. รายการที่จำเป็นสำหรับการทดสอบมีดังนี้

1.1 การวิเคราะห์หาชนิดและอัตราส่วนผสมของเส้นใย (Fiber Analysis) เพื่อให้ทราบว่าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เส้นใย ทั้งนี้ต้องระบุให้ชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย

1.2 การทดสอบการลุกติดไฟ (Flammability Test) การทดสอบนี้จำเป็นสำหรับเสื้อผ้าเด็กที่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย

1.3 ทดสอบเพื่อวัดขนาดการเปลี่ยนแปลงของวัสดุสิ่งทอต่อการซักล้าง (Dimensional Stability to Washing) มีความจำเป็นอย่างมาก วัตถุประสงค์เพื่อที่จะประเมินผ้าก่อนนำมาตัดเย็บว่ามีการยืดหดได้มากน้อยเพียงใด จะได้นำตัวเลขที่ได้ไปคำนวณเพื่อกำหนดขนาดของผ้าที่จะใช้ในการตัดเย็บ

1.4 การทดสอบความคงทนของสี (Colour Fastness) ต่อการซักล้าง (Washing) ซักแห้ง (Dry Cleaning) สารฟอกขาวที่มีคลอรีน (Chlorine Bleach) และไม่มีคลอรีนผสม (Non Chlorine Bleach) ตลอดจนตรวจสภาพของผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลังจากการซักล้าง (Appearance After Wash) การทดสอบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้นำข้อมูลมากำหนดป้ายหรือฉลากสำหรับการดูแลรักษาเสื้อผ้า (Care Labelling)

1.5 การทดสอบหาสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย (Hazardous Chemical) ได้แก่ การห้ามใช้สีประเภทเอโซ (Azo) (เป็นกฎหมายบังคับสำหรับประเทศเยอรมัน) วิเคราะห์หาปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ (เป็นกฎหมายบังคับสำหรับประเทศญี่ปุ่น)

1.6 การทดสอบความคงทนของสีต่อแสง (Colour Fastness to Light) ทั้งนี้เพื่อประเมินว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอสามารถทนต่อแสงแดดเทียมภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด

2. รายการทีอาจจะต้องทำการวิเคราะห์และทดสอบเพิ่มเติม

2.1 ความแข็งแรงของผ้าทอต่อแรงดึงขาด (Tensile Strength) ความแข็งแรงของตะเข็บ (Seam Strength) ทดสอบเพื่อประเมินค่าความแข็งแรงของผ้าและตะเข็บของผ้าทอ

2.2 ความแข็งแรงของผ้าถักต่อแรงดันทะลุ (Burst Strength) ความแข็งแรงของตะเข็บ (Seam Burst Strength) ทดสอบเพื่อประเมินความแข็งแรงของผ้าและตะเข็บของผ้าถัก

กระบวนการการทดสอบ (Testing Procedure)

การศึกษามาตรฐานและวิธีการทดสอบ

ในการศึกษามาตรฐานการทดสอบสิ่งทอ จำเป็นต้องเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

  • วัตถุประสงค์ (Purpose) ขอบเขต (Scope) และหลักการ (Principle)
  • ข้อควรระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย (Safety Precaution)
  • เครื่องมือ อุปกรณ์ สารเคมี (Equipment, Apparatus, Materials)
  • การเตรียมตัวอย่าง (Test Specimens)
  • วิธีการทดสอบ (Procedure)
  • การประเมินผลและการสรุปผล (Evaluation)
  • การรายงานผล (Report)

ขั้นตอนการทดสอบสิ่งทอ การทดสอบสิ่งทอมีลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้

1) ปรับสภาวะตัวอย่าง (อุณหภูมิ ความชื้น ตามมาตรฐานการทดสอบ เช่น อุณหภูมิของการทดสอบ 20 ? 2 'C และความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) 65?4 %

2) เตรียมชิ้นงานทดสอบ / วิธีการสุ่มตัวอย่าง / ลักษณะ / ขนาด / จำนวน

3) เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ สารเคมี

4) ดำเนินการทดสอบ

5) ประเมินผลและรายงานผล

การเลือกใช้มาตรฐานการทดสอบ

การเลือกใช้มาตรฐานการทดสอบสิ่งทอขึ้นอยู่กับเหตุผลดังนี้

  1. ผลิตภัณฑ์ที่จะส่งไปยังประเทศที่กำหนดมาตรฐานใช้เองในการทดสอบ จำเป็นต้องใช้มาตรฐานของประเทศนั้น เช่น หากต้องการส่งสินค้าสิ่งทอไปยังประเทศญี่ปุ่น จำเป็นต้องใช้มาตรฐาน JIS ทดสอบสินค้า
  2. ผลิตภัณฑ์ที่จะส่งไปยังประเทศที่ไม่มีการกำหนดมาตรฐานใช้เอง สามารถใช้มาตรฐานการทดสอบระหว่างประเทศ ISO ได้
  3. ผลิตภัณฑ์ที่จะส่งไปยังบริษัทที่มีการกำหนดมาตรฐานใช้เอง ให้ใช้มาตรฐานการทดสอบของเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น ส่งออกเสื้อผ้าไปให้บริษัท Mark&Spencer ให้ใช้มาตรฐานการทดสอบของ Mark&Spencer เป็นต้น
  4. การเลือกใช้มาตรฐานการทดสอบขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ร่วมค้า (ผู้ซื้อ-ผู้ขาย หรือ ผู้สั่งสินค้า-ผู้ผลิตสินค้า เป็นต้น)

การจำแนกการทดสอบสิ่งทอ โดยหลักการทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ ตรวจวัดคุณสมบัติของสิ่งทอ (เส้นใย เส้นด้าย ผืนผ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป) แบ่งเป็น 2 หลักการ

  1. Objective Testing: เกี่ยวกับคุณสมบัติที่สามารถวัดได้ อย่างคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การหดตัว แรงฉีกขาด ความคงทนต่อการขัดถู การขึ้นขน ความคงทนของสีย้อม เป็นต้น
  2. Subjective Testing: เกี่ยวกับความสวยงามและผิวสัมผัส อย่างผิวสัมผัส ความอ่อนนุ่ม ความเงามัน ความสบาย ลักษณะภายหลังจากการซักล้าง

การจำแนกชนิดการทดสอบสิ่งทอตามชนิดของวัสดุสิ่งทอ สามารถจำแนกชนิดการทดสอบตามวัสดุ ได้ดังนี้

1.การทดสอบเส้นใย เช่น

  • ความยาวของเส้นใยสั้น
  • คัดความยาวด้วยมือ (Staple Sorter)
  • ความต้านทานแรงดึง
  • ความแก่
  • อื่น ๆ เช่น สี และความมัน

2.การทดสอบเส้นด้าย เช่น

  • การทดสอบหาความยาวของเส้นด้าย
  • การทดสอบหาขนาดเส้นด้ายหรือเบอร์ด้าย
  • การทดสอบหาความแข็งแรงและการยึดตัวของเส้นด้าย
  • การทดสอบการหาเกลียวของเส้นด้าย

3.การทดสอบผ้าทอและผ้ายืด เช่น

  • การทดสอบหาความกว้าง ความยาว และความหนา
  • การทดสอบหาจำนวนเส้นด้ายและการทอ
  • การทดสอบหาระดับความหยิกงอของเส้นด้าย
  • การทดสอบหาค่าความสามารถในการปกปิด (Cover Factor)
  • การทดสอบหาค่าความโค้งและแนวเฉลียงของด้ายพุ่ง
  • การทดสอบหาความต้านทานแรงดึง และแรงยึดตัว
  • การทดสอบหาความแข็งแรงต่อการฉีกขาด
  • การทดสอบหาความแข็งแรงต่อแรงดันทะลุ
  • การทดสอบหาความคงทนต่อการขัดถู
  • การทดสอบหาความโค้งงอของผ้า
  • การทดสอบหาการผ่านของอากาศ
  • การทดสอบหาค่าความต้านทานการขึ้นขน
  • การทดสอบหาค่าการหดตัวของผ้า
  • การทดสอบหาค่าการคืนตัวต่อรอยยับ
  • การทดสอบหาคุณสมบัติการสะท้อนน้ำ
  • การทดสอบหาทดสอบการเผาไหม้

4.การทดสอบทางเคมี เช่น

  • การวิเคราะห์หาปริมาณความชื้น
  • การวิเคราะห์หาส่วนผสมของเส้นใย
  • การวิเคราะห์หาค่าความเป็นกรด/ด่าง ของสิ่งทอ
  • การวิเคราะห์การหาปริมาณ Formaldehyde
  • การตรวจสอบคุณภาพของสีย้อมสิ่งทอ

มาตรฐานการทดสอบ (Testing Standard)

มาตรฐาน (Standard) หมายถึง เอกสารที่จัดทำขึ้นจากการเห็นพ้องต้องกัน และได้รับความเห็นชอบจากองค์กรที่ยอมรับกันทั่วไป เอกสารดังกล่าววางกฏระเบียบแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ให้ใช้กันทั่วไปไว้

การมีมาตรฐานที่เป็นเอกภาพ เกิดจากความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ทั้งในด้านของคำศัพท์ ข้อกำหนดลักษณะ การทดสอบและการวิเคราะห์อื่น ๆ ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

ลำดับของมาตรฐาน เรียงตามลำดับความสำคัญได้ดังนี้

  • มาตรฐานระดับสากล (International Standards)
  • มาตรฐานระดับภูมิภาค (Regional Standards)
  • มาตรฐานระดับประเทศ (National Standards)
  • มาตรฐานอ้างอิง (Reference Standards)
  • มาตรฐานใช้งาน (Working Standards)

มาตรฐานสำหรับการทดสอบสิ่งทอ

วิธีการทดสอบคุณภาพของสิ่งทอได้มีการคิดค้นและปรับปรุงวิธีการเพื่อให้ใกล้เคียงกับภาวะเป็นจริงของการใช้งาน มาตรฐานได้ถูกกำหนดขึ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือจากสถาบันที่ยอมรับในเรื่องการจัดคุณภาพ ได้มีประเทศต่าง ๆ วางไว้ และยึดถือมาตรฐานกลางเป็นหลัก มาตรฐานในการทดสอบสิ่งทอ สามารถแยกออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้ (B. F. Smith and I. Block, Textiles in Perspective, Prentice-Hall, 1982)

1) มาตรฐานระดับบริษัท (Company Standard) เป็นมาตรฐานที่เกิดจากการกำหนดของผู้ผลิต เช่น Dupont, Marks&Spencer

2) มาตรฐานระดับสมาคม (Association Standard) เป็นมาตรฐานที่เกิดจากกลุ่มบุคคลหรือสมาคมที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน เช่น AATCC (American Association of Textile Chemists and Colourists), The American National Standards Institute (ANSI), American Society for Testing and Materials (ASTM)หรือ The Society of Dyers and Colourists (SDC)

3) มาตรฐานระดับประเทศ (National Standard) เป็นมาตรฐานที่ได้จากการประชุมหรือหารือกันกับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายภายในประเทศ เช่น

  • The British Standards Institution (BSI)
  • The American National Standards Institute (ANSI)
  • Council of Canada (SCC)
  • The British Standards Institution (BSI)
  • Standards Australia (SAA)
  • The Bureau of Indian Standards (BIS)
  • Bureau of Technical Supervision (CSBTS)
  • Ente Nazionale Italiano di Unificazione (UNI)
  • JIS (Japan) Japanese Industrial Standards
  • DIN (Germany) German Institute for Standardization
  • TISI (Thai Industrial Standards Institute) หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ - อุตสาหกรรม (สมอ.)

4) มาตรฐานระดับระหว่างประเทศ (International Standard) เป็นมาตรฐานที่ได้จากการร่วมพิจารณากำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานทั่วไปในการซื้อขายระหว่างประเทศ ได้แก่ The International Organization for Standardization (ISO) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Geneva ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

ส่วนมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันและได้รับการยอมรับเพื่อใช้กันอย่างแพร่หลายในโลก ได้แก่ ISO (International Organization for Standardization) (โลก)

BSI (British Standards Institution) (อังกฤษ)

DIN(Deutsches Institut f?r Normungen.V.) (เยอรมัน)

ASTM (American Society for Testing and Materials) (อเมริกา)

AATCC (American Association of Textile Chemists and Colorists) (อเมริกา)

JISC (Japanese Industrial Standards Committee) (ญี่ปุ่น)

SABS (South African Bureau of Standards) (แอฟริกาใต้)

BIS (Bureau of Indian Standards) (อินเดีย)

สำหรับประเทศไทยมีมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานการทดสอบทั้งด้านกายภาพและเคมี

คำแนะนำและแนวทางเลือกรายการวิเคราะห์และทดสอบสิ่งทอ

ผลิตภัณฑ์สิ่งทอมีหลายชนิดและหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเส้นใย เส้นด้าย ผืนผ้า รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป ดังนั้นการเลือกทดสอบผลิตภัณฑ์สิ่งทอต้องคำนึงถึงข้อตกลงของลูกค้าเป็นหลัก แต่ในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้กำหนดหัวข้อหรือรายการทดสอบมาให้ ผู้ผลิตหรือผู้ทดสอบจำเป็นต้องเลือกรายการทดสอบให้สอดคล้องกับการการใช้งานของผลิตภัณฑ์ โดยต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมที่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอนั้นได้รับ ทั้งเรื่องแสง น้ำ ผงซักฟอก สารฟอกขาว การขัดถู

ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นเสื้อผ้าและนำไปใช้งานสำหรับเล่นกีฬากลางแจ้ง สิ่งที่ผู้ผลิตหรือผู้ทดสอบควรทราบคือ เสื้อผ้าต้องสัมผัสแสงแดด เหงื่อ ตลอดจนสัมผัสกับน้ำและผงซักฟอก อย่างน้อยรายการทดสอบต้องประกอบไปด้วยความคงทนของสีต่อแสง ความคงทนของสีต่อเหงื่อ ความคงทนของสีต่อน้ำ ความคงทนของสีต่อการซักล้าง เป็นต้น นอกจากนั้นควรคำนึกถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบบางรายการที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ต่างกัน อย่างประเทศเยอรมันมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามใช้สีที่มีส่วนของสารให้สีประเภทเอโซ ประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อกำหนดเกี่ยวกับชุดนอนเด็กต้องลดอันตรายจากไฟไหม้ หรือชะลอการติดไฟ

องค์กรที่ให้บริการ (Service Institute)

ในกระบวนการผลิตต้องมีการควบคุมคุณภาพเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าและการควบคุมภายใน หน่วยงานกลาง (Third Party) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมีทั้งภายในและภายนอกประเทศ จะวิเคราะห์และทดสอบสิ่งทอ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความโปร่งใสระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้บริโภค

สำหรับประเทศไทยจะมีหน่วยงานจากต่างประเทศทำการประเมินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ดังนี้

ที่มา

  1. รายงานขั้นต้น (Inception Report)

    งานการวิจัยข้อมูลผ้าไทย เสนอผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ วันที่ 30 สิงหาคม 2556 จัดทำโดยนางสาวอัจฉรา จงควดี

  2. รายงานขั้นสุดท้าย (Final Report)

    งานการถ่ายภาพโครงสร้างผ้าและหาข้อมูลการทดสอบผ้า เสนอผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ วันที่ 30 กันยายน 2556 จัดทำโดยนายณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร



Related To This Item

สื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


You May Also Like

แนะนำสื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจ


Your Recent Views

สื่ออื่นๆ ที่คุณเพิ่งดู