Archive

Colour of Charoenkrung ร่วมกันตามหาสีสันในย่านเจริญกรุง

Description

วันที่จัดแสดง : 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2563 สถานที่จัดแสดง : ย่านถนนเจริญกรุง และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

Subject

design / street art / painting / art / tcdcarchive

Details

Released 1 July 2020
File Format text/html
Print

Colour of Charoenkrung ร่วมกันตามหาสีสันในย่านเจริญกรุง

ในปัจจุบัน เจริญกรุงเป็นย่านที่มีเรื่องราวบอกเล่าส่งต่อกันมาหลากหลายรุ่นและยังคงกลิ่นอายความคลาสสิคภายในชุมชน เป็นแหล่งรวบรวมไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่อาศัยหรือประกอบธุรกิจที่มีความแตกต่างได้อย่างลงตัว

ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID 19) ที่ได้มีการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดด้วยการปิดสถาบันการศึกษาและสถานที่ให้บริการต่าง ๆ พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคประชาชน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ให้เข้มแข็งสามารถผ่านพ้นสถานการณ์เฉพาะหน้าและมีภูมิคุ้มเพื่อการฟื้นตัวและป้องกันในระยะยาว ภายใต้โครงการ “CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย” โดยดำเนินการในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม – สิงหาคม 2563

CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย สามารถจ้างงานตรงบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) พร้อมช่วยลดต้นทุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และยังดำเนินมาตรการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมแล้วให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากกว่า 1,200 ราย ทำให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์เฉพาะหน้า มีภูมิคุ้มเพื่อการฟื้นตัวและป้องกันในระยะยาวได้ โดยการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

1) “สู้โควิดด้วยวิตามิน” ผ่านการจ้างงานตรง 6 สาขาอาชีพ ได้แก่ กลุ่มจ้างงานศิลปินสร้างผลงานศิลปะให้กับเมือง “Colour of Charoenkrung”, กลุ่มจ้างงานนักดนตรีจาก 4 ภูมิภาค “Sound of the City”, กลุ่มจ้างงานนักเขียน-ช่างภาพ เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์ให้ผู้ประกอบการ SME, กลุ่มจ้างงานนักออกแบบโลโก้และผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ SME และกลุ่มจ้างงานนักออกแบบกราฟิก

2) “เสริมภูมิคุ้มกัน” เป็นมาตรการเสริมร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ SME, การให้บริการจัดทำภาพและเนื้อหาสำหรับขายของออนไลน์ให้กับ SME โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย, การรวบรวมข้อมูลร้านค้าและผู้ประกอบการในย่านเจริญกรุง และที่เข้าร่วมโครงการกับ CEA เพื่อนำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนาแบรนด์และผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3) “สร้างเกราะต้านทานโรค” เป็นมาตรการระยะยาวในการปรับทักษะ เพิ่มความรู้ และต่อยอดไอเดีย โดยการจัดทำคอร์สออนไลน์ฟรี “CEA Online Academy” เกี่ยวกับทักษะจำเป็นสำหรับการทำงานและประกอบธุรกิจในอนาคต เพื่อพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับยุคสมัย (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill)

Art to Heals กิจกรรมสร้างผลงานศิลปะให้กับเมือง

หนึ่งในโครงการจ้างงานบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้นักวาดภาพ นักออกแบบ หรือนักสร้างสรรค์ มาถ่ายทอดผลงานศิลปะตามแบบฉบับของตนเองให้กับย่านเจริญกรุง ผ่านมุมมองและการตีความหมายภายใต้แนวคิด "COLOUR OF CHAROENKRUNG" สีสันแห่งเจริญกรุง งานศิลปะกว่า 30 ผลงาน จาก 30 ศิลปินและนักออกแบบ ตั้งแต่จากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสะพานตากสินจนไปถึงบริเวณตลาดน้อย ที่จะมาเสริมสร้างเอกลักษณ์ให้กับย่านและดึงดูดให้ทุกคนมาร่วมเดินชมสัมผัสบรรยากาศพร้อมสะพายกล้องออกตามหาผลงานที่ซ่อนตัวอยู่ในตึก ในร้านค้า หรือตามตรอก แวะพักผ่อนอุดหนุนร้านอาหารในท้องที่ ช่วยฟื้นฟูให้การท่องเที่ยวและการค้าภายในย่าน สร้างความมีชีวิตชีวาให้เมืองของเรากลับมาสดใสและเพิ่มความสุขให้ผู้คนในเมืองได้อีกครั้ง

แผนที่ผลงาน : ดัดแปลงจาก Google map

ย่านเจริญกรุง : BRING BACK COLOURFUL LIFE TO THE CITY!

หากลองคิดถึงย่านเจริญกรุง ลองจินตนาการว่าสีสันของเจริญกรุงจะเป็นแบบไหน สีอุ่นๆ เอิร์ธโทนเพราะเป็นย่านเมืองเก่าสีสันแห่งความออริจินัล หรือจะเป็นสีสันแห่งความหลากหลายที่สื่อถึงหลากที่มาและหลากวัฒนธรรมไทย จีน พุทธ คริสต์ อิสลาม หรือจะนึกถึงสีที่คล้ายกับตึกสวยๆ ที่เรียงรายอยู่ หรือจะเป็นสีแบบผสมผสานสีสันของความเก่าผสมใหม่ หรือสีสันสดใสแห่งความหวังเพราะรู้สึกว่าย่านนี้กําลังเป็นที่นิยม

“ย่านเจริญกรุง” จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความดั้งเดิมและความร่วมสมัยที่มาพบกัน ณ กาลเวลาปัจจุบัน การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ในพื้นที่เก่า และการรวมตัวกันของกลุ่มคนทํางานสร้างสรรค์ที่พร้อมจะช่วยกันฟื้นฟู ให้ย่านเก่าแก่แห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งผ่านวิธีถ่ายทอดเรื่องราวของย่านด้วยงานศิลปะและงานออกแบบ ล้วนแล้วทําให้เจริญกรุงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวในอดีตที่หยุดนิ่งอีกต่อไป แต่เป็นโอกาสและจุดหมายของคนเจเนอเรชั่นใหม่เพือค้นหาศักยภาพและความเป็นไปได้ในแง่มุมอื่นๆ ผ่านสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบริบทของย่านเจริญกรุง

ผลงานศิลปะ Town Painting บนถนนสายแรกของประเทศไทย

เวลานี้เรื่องราวของ “ย่านเจริญกรุง” ได้เริ่มต้นบทใหม่ ในวันที่ทุกอย่างกลับมามีชีวิตชีวาและคุณค่าบางอย่างที่กําลังจะลืมเลือนเริ่มกลับมาถูกพูดถึง อาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทั้งที่เป็นสถานที่ราชการ อาคาร พาณิชย์ วัด โบสถ์และมัสยิด ซึงเป็นภาพแทนของความเจริญในยุคก่อนและเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้น ในการวางรากฐานระบบขนส่ง ระบบการสื่อสาร การค้าขายและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาที่ผสมผสานกลมกลืมเป็นวิถีชีวิตเดียวกัน

ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงอยู่และทําให้เจริญกรุงแตกต่างและมีเสน่ห์เสมอมา ทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้เข้ามาลงทุนใหม่ที่ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งถนนสู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ ยกระดับธุรกิจจิวเวลรี่ของย่านไปพร้อมกับการผลักดันให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มากขึ้น หากพร้อมแล้วมาร่วมชมงานศิลปะทั้ง 30 ผลงาน ที่แต่งแต้มให้ย่านชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำสายหลักที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ได้กลับมามีสีสันอีกครั้ง

เริ่มต้นเดินทางผ่านห้างสรรพสินค้าโรบินสันบางรักมาไม่ไกลมาก จะได้พบกับโลเคชันผลงานจุดแรก อยู่ในซอยเจริญกรุง 44 ที่ใช้เทคนิคศิลปะแบบกราฟฟิตี้

01) สีสันเจริญกรุง [1]

ศิลปิน : เชิดศักดิ์ เม้ยขันหมาก

สถานที่ : กำแพงโรงแรม Bangkok Check Inn ซอยเจริญกรุง 44

ย่านเจริญกรุงและย่านริมน้ำเจ้าพระยามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน จากสมัยก่อนแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนสองฝั่ง พร้อมกับการตัด “ถนนเจริญกรุง” เป็นถนนที่สร้างตามแบบตะวันตกเส้นแรกของประเทศไทย ในเวลานี้ย่านเจริญกรุงเริ่มกลับมาฟื้นฟูใหม่อีกครั้ง เพื่อนำสีสันและชีวิตชีวากลับมาสู่ย่านเก่าศิลปินจึงต้องการที่จะถ่ายทอดให้เห็นเรื่องราความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตริมน้ำและย่านเจริญกรุงผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่

เดินตรงตามถนนใหญ่เรื่อย ๆ ถึงบริเวณต้นซอยเจริญกรุง 47 จะได้พบอีก 2 ผลงานอยู่บนกำแพงร้านเครื่องประดับที่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นธุรกิจขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของย่าน ที่ขายสินค้าจิวเวลรีให้กับลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติมาอย่างยาวนาน

02) LOCALISM

ศิลปิน : TNOP DESIGN

สถานที่ : หจก. เจ เฮนรี่ ยูเวลเลอร์ส ซอยเจริญกรุง 47

เจริญกรุงเป็นย่านพื้นที่เก่าแก่ที่ผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม กับศิลปะแบบร่วมสมัยเข้าด้วยกัน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนบริบทของย่านเจริญกรุงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ จึงอาจทำให้หลงลืมหรือมองข้ามถึงเสน่ห์ความเป็นท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายไป ผลงานนี้ต้องการที่จะสื่อถึงโครงสร้างภายในของความเป็น “Localism” ผ่านมิติของการมองอย่างเจาะลึกลงไปข้างในตัวอักษรที่ภายนอกของฟอร์มมีความทันสมัย ขณะที่ภายในตัวอักษรถูกประกอบจากส่วนต่างๆ ของงานสถาปัตยกรรมภายในย่านเจริญกรุง กระตุ้นให้ผู้ชมกลับมาตระหนักถึงความสำคัญเชิงโครงสร้างที่เป็นจุดเริ่มต้นของย่านนี้

03) MONOPOLY

ศิลปิน : Bunjerd.Boy

สถานที่ : หจก. เจ เฮนรี่ ยูเวลเลอร์ส ซอยเจริญกรุง 47

"อาการประหลาดใจ" เกิดขึ้นกับเราบ่อยครั้งเมื่อมาที่ย่านแห่งนี้ ด้วยเพราะความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่ผสมผสานกัน และเกิดการทับซ้อนกันของยุคสมัย หล่อหลอมจนเป็น "เจริญกรุง" ย่านที่มอบอาการลุ้นให้คุณตลอดเวลา ทั้งลุ้นไปกับศิลปวัฒนธรรม ลุ้นไปกับงานสถาปัตยกรรมอันหลากหลาย ลุ้นไปกับอาหารที่มากมาย จบด้วยลุ้นไปกับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเจอ

หลังจากนั้นจะพาข้ามฝั่งถนนเข้าไปด้านในซอยวัดม่วงแคเพื่อชมผลงานต่อไป บริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติและศาสนา ทั้งชาวพุทธ คริสต์ และมุสลิม ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและลงตัว

04) Weaving Culture

ศิลปิน : Kitt.Ta.Khon | เทคนิค: งานสานเส้นพลาสติก

สถานที่ : กำแพงทางเข้าวัดม่วงแค ซอยเจริญกรุง 34

Weaving Culture เป็นการตีความสีสรรค์ของย่านเจริญกรุงผ่านความหลากหลายของวัฒนธรรมที่รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ศิลปินเชื่อว่าไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมหรือศาสนาใด ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ผลงานชิ้นนี้จึงเลือกสร้างภาษาของลวดลายกราฟฟิกผ่านลาย “ขัด” ซึ่งเป็นวิธีขั้นพื้นฐานที่ใช้ในการสร้างลวดลายของงานหัตถกรรมอันสื่อถึงรากฐานทางอารยธรรมของมนุษย์และความกลมเกลียว อีกทั้งลวดลายมังกรสื่อถึงถนนเจริญกรุง ที่กลิ่นอายของความเป็นจีนถูกแต่งแต้มด้วยสัญลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม อาทิ ไม้กางเขน ดาว และลายผ้าไทย กลายเป็นภาษาของลวดลายที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมเปรียบเสมือนย่านเจริญกรุง

05) We’re Human

ศิลปิน : ease-studio | เทคนิค: ภาพปัก

สถานที่ : กำแพงทางเข้าวัดม่วงแค ซอยเจริญกรุง 34

‘เจริญกรุง’ เป็นถนนสายแรกที่สร้างตามแบบตะวันตกของประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกที่มาตั้งรกรากเพื่อทำการค้าขายหรือพักอาศัย ความน่าสนใจของพื้นที่นี้คือการที่ผู้คนที่มีความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นอยู่ของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีศาสนา สีผิว สัญชาติ เพศสภาพหรือสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันไป ศิลปินจึงต้องการให้ผลงานศิลปะจัดวางชุดนี้แสดงถึงการเคารพและเชิดชูในความหลากหลายและความแตกต่างของผู้คน เพราะถึงแม้ภายนอกเราทุกคนล้วนแตกต่างกันแต่แท้จริงแล้วเราต่างก็เป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกัน

เดินต่อมาอีกไม่ไกลก็จะถึงอาคารไปรษณีย์กลาง ตำแหน่งที่ตั้งของ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แหล่งความรู้เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นในสังคม โดยสามารถเดินชมผลงานที่กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคารได้

06) Scan, read & walk

ศิลปิน : ณัฐพล โรจนรัตนางกูร

สถานที่ : TCDC ไปรษณีย์กลาง (อาคารส่วนหน้า)

ศิลปินต้องการเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างงานและคน คนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่กับสถานที่จริง เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และความเข้าใจในบริบทต่างๆ ของย่านเจริญกรุงผ่านผลงาน Scan, read & walk ด้วย QR Code ที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมข้อมูลจาก url และ Google map ตามสถานที่ต่างๆ ของย่านเจริญกรุง และ QR Code จะถูกเรียงเป็นสัญลักษณ์ลูกศรชี้ออกไปทางหน้าต่างหรือประตู เพื่อบอกให้ผู้ชมแสกน QR Code และออกไปมีส่วนร่วม สร้างปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่และคนจริงๆ

07) สีสันเจริญกรุง [2]

ศิลปิน : สมชาติ พัฒนทรัพย์

สถานที่ : TCDC ไปรษณีย์กลาง (อาคารส่วนหน้า)

ศิลปินต้องการเชื่อมต่อความหลากหลายของย่านเจริญกรุงจากอดีตจนถึงปัจจุบันผ่านตัวอักษร และสีสรรที่แสดงออกในแต่ละช่วงเวลา

08) พวกเราเหมือนกันดั่งพี่น้อง

We are all the same like brotherhood

ศิลปิน : อยส จินดาวงศ์

สถานที่ : TCDC ไปรษณีย์กลาง (อาคารส่วนหน้า)

เรื่องราวของย่านเจริญกรุงไหลเวียนเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม ด้วยเพราะสีสันของคนเรานั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ แต่มาอยู่ร่วมกันเป็นภาพเดียวนั่นคือย่านเจริญกรุง เสมือนเส้นด้ายหลากหลายสีที่ร่วมกันถักทอเล่าเรื่องราวบนผืนผ้า ศิลปินจึงต้องการที่จะสื่อสารเรื่องราวความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คน ผ่านภาพแผนที่มุมสูงของย่านเจริญกรุงที่ถูกประกอบขึ้นจากความแตกต่างและสีสันที่หลากหลายของวิถีชีวิตและสถานที่ อันเป็นเสน่ห์ของย่านนี้ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

09) RE - CHAROENKRUNG

ศิลปิน : ประดิภา ชาญภิญโญ

สถานที่ : TCDC ไปรษณีย์กลาง (อาคารส่วนหน้า)

RE (อีกครั้ง) แสดงถึงความไม่มีจุดสิ้นสุด ความร่วมสมัยถูกสร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุงอยู่ตลอดเวลา บางสิ่งถูกดัดแปลง ปรับเปลี่ยน ลดทอน หรือเติมแต่งให้กลายเป็นสิ่งใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายความดั้งเดิมของเจริญกรุงไว้อย่างลงตัว ผลงานชิ้นนี้จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิดดังกล่าว ทั้งเทคนิคการใช้สีที่หลากหลายมาผสมผสานกัน การนำรูปทรงต่างๆ มาลดทอนหรือดัดแปลงใหม่โดยยังคงเค้าโครงเดิมไว้ หรือการจัดวางส่วนประกอบต่างๆ แบบซ้ำๆ แสดงถึงการทำ “อีกครั้ง” เพื่อสื่อถึงการนำเอกลักษณ์ของย่านเจริญกรุงที่น่าหลงใหลให้กลับคืนมาได้อีกครั้งอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

10) สีสันเจริญกรุง [3]

ศิลปิน : อาเนช มานะกุล

สถานที่ : TCDC ไปรษณีย์กลาง (อาคารส่วนหน้า)

ด้วยสถาปัตยกรรมเก่าที่โดดเด่นในย่านเจริญกรุง ศิลปินเลือกที่จะลดทอนเป็นลายเส้นเรขาคณิตแบบเรียบง่าย ผสมผสานกับตัวละครอิโมจิของวิถีชิวิตชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความร่วมสมัย

11) Different shade of Charoenkrung

ศิลปิน : การุญ เจียมวิริยะเสถียร

สถานที่ : TCDC ทางเดิน Rooftop garden (ชั้น 5) โซน member

เจริญกรุง ถนนสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกเส้นแรกของประเทศไทย กาลเวลาที่ยาวนานได้ก่อกำเนิดงานสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย และความทรงจำต่างๆ มากมายถูกบันทึกไว้ใน ภาพถ่ายขาวดำ จนมาเป็นภาพที่มีสีสันตามความเจริญรุ่งเรืองบนถนนสายนี้ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง

12) Untitled Dancer

ศิลปิน : ศรุต บวรธีรภัค

สถานที่ : กำแพง CAT (ฝั่งใน) ซอยเจริญกรุง 32

ด้วยความหลงใหลในแสงสีและเสียงดนตรีของย่านเจริญกรุงยามค่ำคืน ย่านเก่าแก่ในอดีตที่ถูกแต่งเติมไปด้วยสีสันจากบาร์ วงดนตรี และงานเลี้ยงเต้นรำ ซึ่งครั้งหนึ่งภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love (2000) ของ Wong Kar Wai ได้ใช้ย่านเจริญกรุง บางรักในการถ่ายทำ ศิลปินจึงต้องการที่จะนำบรรยากาศความบันเทิงในวันวานมาผสมผสานกับกลิ่นอายของภาพยนตร์ดังกล่าว โดยนำเสนอผ่านภาพคู่ชายหญิงที่กำลังเต้นรำ และดอกไม้ที่ให้ความรู้สึกถึงความรัก ความโรแมนติค และความมีชีวิตชีวา เหมือนดั่งคาแลกเตอร์ของย่านเจริญกรุงที่เคยเป็นและยังคงสัมผัสได้จนถึงตอนนี้

13) 3:17 PM SUNRAY

ศิลปิน : peungda

สถานที่ : กำแพง CAT (ฝั่งใน) ซอยเจริญกรุง 32

แสงแดดของย่านเจริญกรุงตอน 3:17 PM นั้นสวยที่สุด พาให้ย้อนกลับไปคิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อน หรือคิดถึงช่วงเวลาที่มีความสุข เจริญกรุงเชื่อมโยงความรู้สึกในวันวานกลับมาในช่วงเวลาปัจจุบัน เป็นความประทับใจที่ศิลปินมีต่อย่านนี้ ด้วยเพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรมและแหล่งรวมความอร่อย จึงถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานชิ้นนี้ด้วยโทนสีของแสงแดด ณ เวลานั้นและความรู้สึกโหยหาช่วงเวลาในอดีต

14) History of Emotions

ศิลปิน : ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ

สถานที่ : กำแพง CAT (ฝั่งใน) ซอยเจริญกรุง 32

ถนนเจริญกรุงเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสู่ความเจริญแบบสากลที่เชื่อมโยงผู้คนจากหลายเชื้อชาติและศาสนาเข้าด้วยกัน สีสันแห่งเจริญกรุงจึงเปรียบเสมือนหน้าประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพของความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีมาอย่างยาวนาน History of Emotions (Histoire des Sensibilit?) ทฤษฎีที่นำเสนอการสำรวจข้อมูลด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่ศิลปินนำมาประยุกต์ใช้กับผลงานนี้ นำเสนอเป็นภาพตัวแทนนามเชิงนามธรรม (Abstract Representation) ผ่านรูปแบบแบบของแผนที่ย่านเจริญกรุง-เจริญนครที่ถูกลดทอนรายละเอียดเชิงข้อมูล พาผู้ชมไปสำรวจความเป็นไปของวิถีชีวิตผู้คนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชื่อมต่อกัน

15) Charoenkrung Mixed Culture Party

ศิลปิน : Panlert

สถานที่ : กำแพง CAT (ฝั่งใน) ซอยเจริญกรุง 32

เจริญกรุงเป็นถนนสมัยใหม่สายแรกของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นย่านที่รวมผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม ในมุมมองของศิลปินเจริญกรุงคือพื้นที่ที่คนมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่และสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน โดยตีความย่านเจริญกรุงให้เป็นเหมือนงานปาร์ตี้ ที่ผู้คนในย่านมาร่วมรังสรรค์พื้นที่แห่งนี้ให้ออกมาสนุกสนานร่วมกัน ผ่านการออกแบบรูปทรงกราฟิกที่หลากหลาย แทนวัฒนธรรมที่แตกต่างของผู้คนในย่าน

16) สีสันเจริญกรุง [4]

ศิลปิน : สรัล ตั้งตรงสิทธิ์

สถานที่ : ร้าน Fotoclub BKK ซอยเจริญกรุง 32

จากโบสถ์สไตล์โกธิครีไวเวิลของวัดกาลหว่าร์ที่งดงามด้วยการประดับกระจกสีตามสไตล์โกธิค อาสนวิหารอัสสัมชัญที่นับเป็นอาสนวิหารแห่งแรกของไทย มัสยิดฮารูณ ศุลกสถานหรือโรงภาษีร้อยชักสาม ธนาคารไทยพาณิชย์ บุคคลัภย์ที่นับเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย แวร์เฮ้าส์ 30 ไปจนถึงโกดังบ้านเลขที่ 1 เปรียบเหมือนสีสันที่ผสมปนเปจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม มาสอดประสานกันจนเกิดสีใหม่ ศิลปินต้องการนำเสนอสีสันของย่านเจริญกรุงจากองค์ประกอบทางสถาปัตกรรม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมที่พบเจอในย่านนี้ เชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าไปเก็บเกี่ยวสร้างแรงบันดาลใจได้ไม่รู้จบ

Fotoclub BKK เกิดจากความตั้งใจทำพื้นที่ร้านให้เป็นเสมือนชมรมถ่ายภาพ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพ พร้อมมีบริการล้างฟิลม์ จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพ เป็นอีกหนึ่งในธุรกิจใหม่บนถนนสายเก่าที่หยิบนำความคลาสสิกของกล้องฟิล์ม มาสร้างเป็นจุดขายเพื่อเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่

17) Mirror Of Aged

ศิลปิน : เขมพงศ์ รุ่งสว่าง

สถานที่ : ร้าน Tokyo Hot ซอยเจริญกรุง 43

โครงสร้างกระจกแตกสื่อถึงความเก่าแก่ของย่านเจริญกรุง ทั้งลวดลายและสีสันแสดงออกถึงความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรมของย่านเจริญกรุงในอดีตที่หลอมรวมกันระหว่าง ไทย จีน แขก และฝรั่ง มองเข้าไปในกระจกจะเห็นเงาสะท้อนของตัวอักษร Bangkok Hotter Than Tokyo หยอกล้อกับชื่อร้าน Tokyo Hot ที่ศิลปินมีความคิดว่า กรุงเทพนั้นร้อนกว่าโตเกียวเสียอีก เป็นการสื่อสารความคิดและอารมณ์ขบขันของคนใน พ.ศ. นี้ Mirror Of Aged จึงเปรียบดั่งกระจกบานเก่าที่สะท้อนความเป็นไปของปัจจุบันได้อย่างแยบยล

18) Bird's Eye View

ศิลปิน : WISHULADA | เทคนิค: ปะติดวัสดุลงบนแผ่นไม้

สถานที่ : ร้าน Tokyo Hot ซอยเจริญกรุง 43

ด้วยความเป็นจริงในปัจจุบันที่ว่าย่านเจริญกรุงมีจำนวนประชากรอยู่อาศัยในย่านเพิ่มมากขึ้น และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งตามมาด้วยการบริโภคทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ศิลปินจึงต้องการนำเสนอภาพมุมสูงของแผนที่บริเวณย่านเจริญกรุงที่สร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดการบริโภคทรัพยากรหลากหลายรูปแบบ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชมในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณและใช้ให้เกิดประโยนชน์สูงสุด หลังจากสิ้นสุดผลงานชิ้นนี้จะถูกนำกลับไปสร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นใหม่ตามหลักการของ Circular Economy หมุนเวียนการใช้วัสดุและลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ร้านขนม Tokyo Hot ได้ขยับจากซอยเจริญกรุง 24 ย้ายมาเปิดร้านใหม่ที่ซอยเจริญกรุง 43 เป็นอีกหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารที่มีการเสนอรูปแบบการออกแบบและเมนูที่แปลกตาแตกต่างไปจากเดิม

19) #NOSKILLDRAWING

ศิลปิน : พรศิลป์ สาขากร

สถานที่ : กำแพงร้านป้ากิ้ว ซอยเจริญกรุง 43

ย่านเจริญกรุงรายล้อมไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันระหว่างความดั้งเดิมและความร่วมสมัย เป็นเหมือนระบบนิเวศที่ต่างพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งผู้คนที่อยู่ในย่าน ธรรมชาติแวดล้อม อาคารบ้านเรือน ความงดงามจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และร้านค้ามากมายที่มาช่วยสร้างบรรยากาศและสีสันให้แก่ย่านเจริญกรุงมีชีวิตอีกครั้ง

20) REFLECTION

ศิลปิน : Kias Matt | เทคนิค: Basic pop-up

สถานที่ : กำแพงร้านข้าวต้มเป็ดเล่าตี๋

รูปแบบหน้าต่างสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมของย่านเจริญกรุง ทั้งโบสถ์คริสต์ อาคารโรงภาษีร้อยชักสาม บ้านโซ่วเฮงไถ่ หรือมัสยิด โดยเล่าเรื่องราวที่ทับซ้อนผ่านคาแลกเตอร์ Miss Hidy ซึ่งศิลปินเลือกใช้ฟอยล์บรรจุอาหารสำเร็จรูปจากการเก็บสะสมในขณะกักตัวอยู่บ้านช่วง Covid-19 มาใช้ตกแต่งสร้างสีสัน เพราะด้วยคุณสมบัติการสะท้อนของฟอยล์ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนสู่งาน REFLECTION ตรงหน้า ประหนึ่งว่าคุณนั่นละที่เป็น “สีสันของเจริญกรุง” และใต้ภาพสีจากซองฟอยล์เบื้องหน้าจะมีประตู pop-up สามบานแอบซ่อนอยู่ เปิดออกมาเป็นมิติที่สาม โดยศิลปินได้แรงบันดาลใจจากที่พักของคนไร้บ้าน

21) The Perfect Ingredient

ศิลปิน : JIRAWAT JINDA

สถานที่ : ร้านนิวเฮงกี่

ผลงานคอลลาจที่นำแนวคิดสีสันของย่านเจริญกรุงมาเป็นโจทย์หลัก ศิลปินจึงเลือกนำสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์แทนลักษณะของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่มาอยู่ร่วมกันในย่านนี้ อาทิ รถยนต์คือผู้คนฝั่งยุโรป ลูกคิดคือคนจีน แพะคือชาวมุสลิมที่มาอาชีพค้าขายแพะในสมัยก่อน มาประกอบกับสีสันของผลไม้ดอกไม้ที่มีในไทย และรูปวาดในยุค Renaissance ที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงความเจริญที่เป็นต้นแบบของการสร้างถนนเจริญกรุง

22) ของเล่นวัยเด็ก

ศิลปิน : Kenz

สถานที่ : ผนังใกล้ศาลเจ้าเจ็ด(ซิกเซียม่า) ตรงข้ามซอยเจริญกรุง 39

“ย่านเจริญกรุง” ย่านที่มีชีวิตชีวาบนความหลากหลายของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนหลายยุค ทั้งคนเก่าแก่และคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ ผู้เข้ามาแต่งแต้มสีสันให้ย่านนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ศิลปินจึงสร้างสรรค์ผลงานจากเอกลักษณ์ของคนทั้งสองยุคที่มาหลอมรวมกัน นำเสนอผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ด้วยการใช้สีสันสดใส ดึงดูดสายตา มาประกอบกับเรื่องราวของคนเก่าแก่ผ่านวัตถุ อาทิ ของเล่นโบราณ ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นเพียงภาพสิ่งของโบราณที่มีสีสันสวยงาม แต่เป็นเสมือนเครื่องย้อนเวลา พาทุกคนย้อนกลับไปเปิดกล่องความทรงจำในอดีต นำภาพวันวานและความสุขที่หล่นหายไปให้กลับมาสดใสในปัจจุบัน

23) Gekko

ศิลปิน : ปัญญวัฒน์ พิทักษวรรณ

สถานที่ : กำแพงร้าน 80/20 ซอยเจริญกรุง 26

เจริญกรุงเป็นย่านเก่าแก่ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของชีวิตในวัยเด็กของใครหลายๆ คน ที่ชอบเดินเล่นไปตามตรอก ซอก ซอย และมักจะต้องเผชิญกับด่านของเหล่าสัตว์อย่างสุนัขและแมว ถือเป็นช่วงเวลาอันเปี่ยมล้นไปด้วยจินตนาการและความสดใสที่ไม่ควรจำกัดอยู่แค่วัยเด็ก ศิลปินจึงเลือกที่จะนำเสนอผ่านภาพของสัตว์ประหลาดจากสัตว์ในพื้นที่ โดยเป็นสัญลักษณ์แห่งจินตนาการในวัยเด็กที่จะมาแต่งเติมสีสันให้กับย่านเจริญกรุงอีกครั้ง

ชื่อร้าน 80/20 (เอ็ทตี้ ทเวนตี้) มาจากปรัญชาที่ใช้กับอัตราส่วนการเลือกใช้วัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารแบบไทย 80% และแบบยุโรป 20% นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับความสดใหม่ ในแต่ละวันเมนูจะถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวัตถุดิบสดใหม่ที่หาซื้อได้จากตลาดน้อย ก่อนที่เชฟจะนำมาตีโจทย์และสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ ๆ อยู่เสมอ ตกแต่งร้านในสไตล์ลอฟต์ที่ดูทันสมัยแต่กลมกลืนกับตึกราบ้านช่องของย่านได้อย่างลงตัว

เดินทางต่ออีกไม่ไกลก็จะถึงพื้นที่บริเวณ “ตลาดน้อย” ชุมชนคนเชื้อสายจีนและย่านการค้าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันเก่าแก่ ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ด้วยสไตล์ของอาคารบ้านไม้และงานศิลปะแนวสตรีทที่กระจายอยู่รอบพื้นที่นั้น สามารถดึงดูดผู้คนอยากเข้ามาสัมผัสความคลาสสิคในรูปแบบจีนดั้งเดิมได้อยู่เสมอ

24) ความเบ่งบานแห่งวัฒนธรรม The blossoming of culture

ศิลปิน : ไกรพล กิตติสิโรตม์

สถานที่ : ร้าน Old maps & prints

ศิลปินระลึกถึงวัฏจักรของความงามผ่านการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมดอกไม้ซึ่งมอบประสบการณ์อันสดชื่นแจ่มใสให้กับผู้ชม ทว่าในขณะเดียวกันนั้น ก็คอยย้ำเตือนให้เรารู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะดอกไม้เก่าเมื่อถึงเวลาย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยเพื่อหล่อเลี้ยงบ่มเพาะดอกรุ่นใหม่ เช่นเดียวกันกับวิถีชีวิตในย่านเมืองกรุง ผู้คนมากมาย จากต่างที่มา ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ ล้วนอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพ และความทันสมัยที่คละคลุ้งไปกับกลิ่นอายวิถีชีวิตของยุคเก่า เป็นการอยู่ร่วมกันของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ลักษณะเช่นนี้เองเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เกิดการส่งต่อชีวิตถึงชีวิตและลมหายใจจากรุ่นสู่รุ่นให้กับถนนเจริญกรุง

25) jolly variety

ศิลปิน : นฤพร ไชยเฉลิม

สถานที่ : กำแพงซอยโรงน้ำแข็ง ซอยเจริญกรุง 24

ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงแง่มุมในการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายในย่านเจริญกรุง โดยเลือกใช้ภาพที่มีสีสันสดใส และดอกไม้หลากหลายชนิด เพื่อสื่อถึงความเป็นมิตรและการอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

26) ตอนนั้นถึงตอนนี้ Then until now

ศิลปิน : ปราง เวชชาชีวะ

สถานที่ : กำแพงซอยโรงน้ำแข็ง ซอยเจริญกรุง 24

ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นลักษณะเด่นของศิลปะการตกแต่งภายในของโบสถ์กาลหว่าร์ด้วยการตัดทอนรูปทรง สี องค์ประกอบต่างๆ อาทิ หน้าต่าง กระจก ลวดลาย และนำสัญลักษณ์ของโบสถ์อย่างดอกกุหลาบมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน โดยเลือกใช้สีสันสดใสเพื่อดึงดูดสายตา ทั้งสีเหลือง สีโอลด์โรส สีแดง ตัดกับสีเข้มๆ อย่างสีน้ำเงินและสีเขียว ประกอบกับลายเส้นรูปคลื่นแสดงถึงตำแหน่งของโบสถ์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ ศิลปินต้องการเชิญชวนให้ผู้ชมได้เข้ามาเห็นและสัมผัสบรรยากาศภายในโบสถ์เก่าแก่อายุ 128 ปีแห่งย่านตลาน้อยด้วยตัวเอง เพื่อสร้างพลังบวกและสร้างชีวิตชีวาให้แก่สถานที่แห่งนี้อีกครั้ง

27) ROSARY

ศิลปิน : MUKAE

สถานที่ : กำแพงซอยโรงน้ำแข็ง ซอยเจริญกรุง 24

Rosary ในภาษาไทยมีความหมายว่า “ดอกกุหลาบ” หรือ “ลูกประคํา” อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงวัดแม่พระลูกประคํา (โบสถ์กาลหว่าร์) สถานที่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าคริสตชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย ดอกกุหลาบจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของศาสนาคริสต์และสถานที่แห่งนี้ได้รับการดูแลรักษาให้เติบโตและมีชีวิตชีวาดั่งดอกไม้ที่ได้รับการรดน้ำเอาใจใส่ดูแลด้วยความรักของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย

28) เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย

ศิลปิน : TAEOGAWA

สถานที่ : กำแพงร้านนนเซอร์วิส ตลาดน้อย

เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความร่ำรวยที่ชาวจีนย่านตลาดน้อยนับถือมาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชการที่ 5 โดยประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุง (ศาลเจ้าโรงเกือก) มาจนถึงปัจจุบัน

29) เจริญกรุง [Chareon Krung]

ศิลปิน : ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์

สถานที่ : กำแพงหน้าร้านไทง้วน ตลาดน้อย

เจริญกรุง ย่านเก่าแก่ที่รุ่มรวยไปด้วยคุณค่าของวัฒนธรรมไทยและจีนที่ผสมผสานความเป็นตะวันตก สะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ด้วยลายละเอียดต่างๆ ทั้งลายไม้ฉลุ ลวดลายปูนปั้น การดัดเหล็ก หรือแม้แต่ตัวอักษรบนป้ายชื่อร้านค้า สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมความทรงจำและความรู้สึกแก่ศิลปินผู้เติบโตและอยู่อาศัยที่นี่ เมื่อมองเห็นสภาพแวดล้อมต่างๆ กำลังเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ศิลปินจึงเลือกที่จะเก็บบันทึกเรื่องราวของย่านนี้ไว้โดยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลบนเส้นถนนเจริญกรุง และนำองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรมและตัวอักษรไทยมาผสมผสานผ่านงานออกแบบกราฟฟิกและลวดลาย

30) Gooses Job

ศิลปิน : สุชา จามาศ

สถานที่ : ร้านอุไรห่านพะโล้ ถนนทรงวาด

ย่านเจริญกรุงเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรมที่หลอมรวมกลุ่มคนสองเชื้อชาติทั้งไทยและจีนไว้ด้วยกัน ก่อกำเนิดเป็นชุมชนและร้านค้าของลูกหลานชาวจีนเกิดมากมาย ศิลปินจึงหยิบยกศิลปะการวาดลายเส้นของจีนมาเป็นแรงบันดาลใจผสมผสานกับความร่วมสมัย ผลงานชิ้นนี้จึงสื่อถึงเรื่องราววัฒนธรรมในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ทั้งเรื่องการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สะท้อนภาพความสัมพันธ์ของคนไทยเชื้อสายจีนในย่านเจริญกรุงที่มีมาอย่างยาวนาน


Related To This Item

สื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


You May Also Like

แนะนำสื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจ


Your Recent Views

สื่ออื่นๆ ที่คุณเพิ่งดู