Archive

Japanese Bamboo: Tracing the legend of Beppu craftsmanship มหัศจรรย์ไม้ไผ่ แกะรอยฝีมือช่างเมืองเบปปุ สู่หัตถศิลป์ระดับโลก

Description

วันที่จัดแสดง : 28 มกราคม - 25 เมษายน 2553 สถานที่ : ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์

Subject

Japanese Bamboo / Beppu / Craftmanship / Culture / Traditional / Design / Japan / tcdcarchive

Details

Released 28 January 2010
File Format text/html
Print

Japanese Bamboo: Tracing the legend of Beppu craftsmanship มหัศจรรย์ไม้ไผ่ แกะรอยฝีมือช่างเมืองเบปปุ สู่หัตถศิลป์ระดับโลก

นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของสุดยอดผลงานหัตถศิลป์จากไม้ไผ่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เมืองเบปปุ (Beppu City) และศูนย์หัตถศิลป์ไม้ไผ่แบบดั้งเดิมเมืองเบปปุ ประเทศญี่ปุ่น ที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานของเหล่าช่างจักรสานแห่งเมืองเบปปุ (Beppu) ในเขตจังหวัดโออิตะบนเกาะคิวชู โดยบอกเล่าตั้งแต่ต้นกำเนิดของหัตถศิลป์ไม้ไผ่ กรรมวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นสินค้าเงินมูลค่าสูง และครั้งแรกของการจัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานชิ้นเอก ของ “โชโนะ โชอุนไซ” ศิลปินแห่งชาติสาขางานหัตถศิลป์ไม้ไผ่คนแรกของญี่ปุ่น นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน “ต่อยอดไม้ไผ่” (Global Bamboo) ที่นำเสนอความมหัศจรรย์ของไม้ไผ่ถูกผสานรวมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างคุณผลประโยชน์มากมาย

ภายในนิทรรศการ “มหัศจรรย์ไม้ไผ่” แบ่งการนำเสนอออกเป็น 8 ส่วน ดังนี้

1. เติบใหญ่สง่างาม : ความสำเร็จและเอกลักษณ์อันเกิดจากความใส่ใจ

ปี พ.ศ. 2551 เมืองเบปปุในจังหวัดโออิตะบนเกาะคิวชูของญี่ปุ่น ทำยอดขายงานหัตถกรรมไม้ไผ่ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของท้องถิ่นไปทั้งสิ้น 600 ล้านเยน หรือราว 234 ล้านบาท โดยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา งานไม้ไผ่เชิงหัตถศิลป์ของญี่ปุ่นกลับมาได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก มีนักสะสมจำนวนไม่น้อยที่ยอมทุ่มเงินถึง 12,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบสี่แสนบาท เพื่อซื้อผลงานของช่างผู้มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นตะกร้าจัดดอกไม้ดั้งเดิมหรือผลงานเชิงประติมากรรมสมัยใหม่ คือความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมของช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่สายคิวชู ผู้สามารถแสดงความเบาแต่ทนทาน แข็งแรงและยืดหยุ่นของไม้ไผ่ให้เด่นชัด

ภายใต้รูปทรงอันแตกต่าง งานทุกชิ้นล้วนเริ่มจากปล้องไผ่เขียวธรรมดาเช่นเดียวกัน หากเติบโตจนมีเอกลักษณ์ได้จากความมานะและใส่ใจในรายละเอียด เปลี่ยนไม้ไผ่สดด้วยกระบวนการและเครื่องมือหลากประเภทจนได้เส้นตอกสำเร็จหลากสีหลากขนาด ที่เมื่อผสมผสานเข้ากับกลวิธีจักสานหลากแบบจึงกลายเป็นสินค้าเงินล้านที่หาใครเมือนไม่ได้ แต่กว่าจะเป็นสินค้าทำเงินเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่เห็นคุณค่า ไม่มุ่งมั่นพัฒนารักษามาตรฐานการผลิต หรือขาดการถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จในวันนี้อาจเป็นเพียงเรื่องราวบนหน้ากระดาษของประวัติศาสตร์งานหัตถศิลป์ญี่ปุ่นแขนงหนึ่งเท่านั้นช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่จากโออิตะทำการสืบสานงานหัตถศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่ได้อย่างไร

2. เริ่มออกหน่อ : เมื่อช่างสานเปลี่ยนเป็นช่างฝีมือ

วัฒนธรรมญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนอันรุ่งเรืองมาแต่อดีต งานหัตถศิลป์ตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะ (พ.ศ. 2146 – 2410) ถึงต้นสมัยเมจิ (พ.ศ. 2411 – 2455) ต่างได้รับการผลิตขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมฝึกสมาธิและจิตวิญญาณตามวิถีพุทธนิกายเซนที่รับมาจากแผ่นดินใหญ่ ในช่วงเวลาดังกล่าว การชงชา การจัดดอกไม้ หรือการเขียนตัวอักษรพู่กันจีนอันเคยเป็นวิถีชีวิตของชนชั้นซามูไร กลับเป็นที่นิยมปฏิบัติแพร่หลายในหมู่พ่อค้าคหบดีและบุนจิน หรือกลุ่มบัณฑิตผู้หลงใหลวัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โอซาก้า เมืองใหญ่ฝั่งตะวันออกของเกาะฮอนชู ทำให้เกิดความต้องการคาราโมโนะ หรือเครื่องใช้ในพิธีกรรมแบบจีนต่างๆ เป็นจำนวนมาก สะท้อนความรุ่มรวยในการใช้ชีวิตและสถานะที่สูงส่งทางสังคมของชนชั้นเกิดใหม่

คำสั่งซื้อและสั่งผลิตคาราโมโนะไม้ไผ่จำนวนมหาศาล เปิดโอกาสให้ช่างได้ฝึกฝนฝีมือและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ จากเพียงเลียนแบบงานจากจีนตามการว่าจ้าง ช่างจักรสานเกาะฮอนชูเริ่มทำผลงานให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความคิดผลิตงานให้ต่างออกไปนี้ได้ข้ามฝั่งมายัง เบปปุ เมืองตากอากาศบนเกาะคิวชู เมื่อทั้งช่างจักสานที่อาศัยในท้องถิ่นมาแต่เดิมและที่ย้ายภูมิลำเนามาตามแหล่งน้ำพุร้อน เริ่มใช้วัตถุดิบอันมีอยู่ในบริเวณอย่างสมบูรณ์มาผลิตตะกร้าจัดดอกไม้ กล่องเก็บใบชา หรือตะกร้าใส่ถ่าน เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ผู้ร่ำรวยที่ข้ามมาท่องเที่ยวจากต่างเกาะได้ซื้อหาไปเป็นที่ระลึก ไผ่หน่อแรกเริ่มแทงยอดเหนือพื้นดินแล้ว

3. ขึ้นปล้องร่วมเหง้า : ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำพุร้อนและงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่

เช่นเดียวกับไผ่ที่เติบโตจากเหง้าเดียวกัน น้ำพุร้อนและงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ในเบปปุมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก จากเดิมรู้จักเพียงแค่ในท้องถิ่น การก่อสร้างท่าเรือประจำจังหวัดโออิตะที่เสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2414 ทำให้นักเดินทางจากทุกสารทิศหลั่งไหลมา เบบปุ เพื่ออาบน้ำพุร้อนกันอย่างคึกคัก จาก 400,000 คนในปี พ.ศ. 2449 เป็น 550,000 คนในปี พ.ศ. 2454 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38 ตามการพัฒนาระบบการขนส่งและการประชาสัมพันธ์การท่องที่ยวครบวงจร ด้วยปริมาณน้ำพุร้อนกว่า 137,000 กิโลลิตรต่อวัน หรือเท่าสระว่ายน้ำ ขนาด 50 เมตร ประมาณ 100 สระ สถานที่ให้บริการอาบน้ำสาธารณะจำนวนมาก และคุณภาพความบริสุทธิ์ของน้ำที่สูง ทำให้เบปปุกลายเป็นแหล่งตากอากาศน้ำพุร้อนอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น

การผลิตงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่หยั่งรากฐานตามกลุ่มและจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าว นิตยสารประจำเมืองเบปปุฉบับปีโชวะที่ 8 หรือปี พ.ศ. 2476 ระบุว่าสมัยเมจิตอนต้น มีเพียงการผลิตเพียงงานหัตถกรรมไม้ไผ่ในชีวิตประจำวัน เช่น ตะกร้าใส่ผักหรือข้าวสารขายกันเองในเกาะเพื่อใช้ประกอบอาหารระหว่างมาแช่น้ำพุร้อน หากความเจริญและการเข้ามาของงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ต่างถิ่น รวมถึงกลุ่มผู้มาเยือนหน้าใหม่เงินหนาจากชิโคะคุ ชูโคะคุ และคันไซ มีส่วนช่วยยกระดับงานหัตถกรรมจากไผ่หลากพันธุ์ที่ขึ้นเหลือเฟือทั้งมาดาเกะหรือโมโซชิคุ ให้มีสีสันและหรูหราขึ้น ยอดส่งออกงานหัตถกรรมไม้ไผ่ของเบบปุจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 11,200 เยน ในปี พ.ศ. 2452 ทั้งๆ ที่ในปีก่อนหน้าขายได้เพียงประมาณ 500 เยนเท่านั้น

4. สู่ผืนป่ากว้าง : จากการพัฒนาเพื่อส่งออก ถึงการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมชาติ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของต้นไผ่ สะท้อนภาพความสำเร็จของการสนับสนุนการส่งออกงานหัตถอุตสาหกรรมของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงปลายสมัยเอโดะต่อเนื่องถึงเมจินับตั้งแต่งานเวิร์ล เอ็กซ์โป ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ในปีพ.ศ. 2405 เมื่อญี่ปุ่นเปิดตัวศาลาแสดงสินค้าอันแน่นไปด้วยงานหัตถกรรมจากวัสดุหลากชนิดรวมถึงไม้ไผ่สู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ยอดสั่งซื้ออันล้นหลามก่อเกิดธุรกิจส่งออกสินค้าหัตถกรรมตามเมืองท่าใหญ่ เช่น โยโกฮามะหรือโกเบ และความต้องการสินค้าปริมาณมากซึ่งยังต้องรักษามาตรฐานไว้ หากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การหันมาส่งออกเทคโนโลยีและการเข้าตีตลาดของผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ราคาถูกจากประเทศในเอเชีย รวมถึงการแพร่หลายของเครื่องใช้พลาสติก ทำให้ญี่ปุ่นกลับต้องพยายามสงวนรักษางานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ที่นับวันจะยิ่งสูญหายอย่างสุดความสามารถ

การประกวดนิทรรศการหัตถศิลป์ของสมาคมระดับชาติไม่ว่าจะนิตเตน หรือนิฮง เด็นโต โคเกย์เตน รวมถึงการให้รางวัล นินเกน โคคุโฮ หรือรางวัลศิลปินแห่งชาติแก่ผู้มีส่วนช่วยรักษาและพัฒนางานหัตถศิลป์ในโลกร่วมสมัย ต่างมีส่วนช่วยพัฒนา คงมาตรฐาน และอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ผ่านระบบการคัดเลือกและตัดสินที่เข้มงวด การได้เป็นสมาชิกสมาคมหรือได้รางวัลในการประกวดของช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่สายคิวชู นอกจากจะเป็นเกียรติประวัติแล้ว ยังการันตีคุณภาพการสร้างสรรค์ทั้งในเชิงศิลป์และเชิงอนุรักษ์ว่ามีความโดดเด่นไม่แพ้สายอื่น โดยมีโชโนะ โชอุนไซ ช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่ชาวเบบปุเป็นผู้นำ กวาดรางวัลทั้งจากนิตเตนและนิฮง เด็นโต โคเกย์เตน รวมถึงยังได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขางานหัตถศิลป์ไม้ไผ่เป็นท่านแรกของญี่ปุ่น

5. แตกลำแตกเหง้า : วิถีการเรียนรู้แบบเฉพาะตัว

เหง้าตาไม้ไผ่ จะเจริญเติบโตขึ้นลำแตกแขนงไปเป็นสาย รูปแบบของการส่งผ่านความรู้งานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ให้แผ่ขยายยังเกิดจากระบบการสืบทอดความรู้ครูสู่ศิษย์ หรือบิดาสู่ทายาท ตามขนบธรรมเนียมเก่าแก่ยาวนานมาแต่สมัยเอโดะ ที่หลอมรวมเข้ากับการเรียนเป็นช่างหัตถศิลป์แบบสมัยใหม่อย่างมีเอกลักษณ์ ความต้องการเพิ่มจำนวนช่างผู้เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจประเทศให้แข็งแกร่งในสมัยเมจิ ทำให้มีการก่อตั้งโรงเรียนช่างอุตสาหกรรมเบบปุใน ปี พ.ศ. 2445 ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่อย่างจริงจัง นอกจากจะส่งเสริมการศึกษาในแบบโยบิเดชิ หรือศิษย์ในพำนักในเขตเบปปุและใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพอย่างดีเยี่ยม ยังมีส่วนช่วยผลักดันงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่เบปปุไปสู่อีกระดับโดยสิ้นเชิง

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ช่างฝีมือไม้ไผ่จากเบปปุและเขตอื่นๆ ในจังหวัดโออิตะ ต่างต้องผ่านวิถีการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองแบบ การเรียนรู้ในวิถีดั้งเดิมคือบททดสอบความตั้งใจจริง คัดกรองผู้ต้องการสืบทอดด้วยวิธีการเรียนการสอนที่กดดันทั้งในแง่เทคนิคและจิตใจ เคี่ยวกรำตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนระดับสูงให้เหลือแต่ผู้มีใจแน่วแน่อย่างแท้จริงในเส้นทางอาชีพที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีจึงเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ในขณะที่การศึกษาในโรงเรียนช่วยสร้างพื้นฐานการผลิตงานซับซ้อนคุณภาพสูง ให้ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาต่อตัวต่อตัวกับอาจารย์ได้ต่อไป เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ที่แต่ละรุ่นรับสืบทอดเทคนิคพิเศษหรือลับเฉพาะให้ต่อเนื่องไปไม่มีขาดตอน

6. ดิน น้ำ อากาศ : กระบวนการ เครื่องมือ และกลวิธีเพื่อความเป็นสุดยอด

ต้นไผ้ไม่อาจเติบโตได้หากปราศจากดิน น้ำ และอากาศ เช่นเดียวกับการผลิตงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ให้มีเอกลักษณ์ของเบปปุก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความแม่นยำในกระกวนการตระเตรียมวัตถุดิบ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับแต่ละขั้นตอน และเทคนิคการสานลวดลายหลากรูปแบบเพื่อขึ้นรูปทรง โดยที่ไม่ลืมความช่วยเหลือจากกลุ่มคนเบื้องหลัง อย่างโรงงานรับจัดการไม้ไผ่สดผู้ทำการแปรรูปไม้ไผ่ตัดจากสวนป่าด้วยวิธีรีดน้ำมันและตากแห้งเพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุการใช้งาน พร้อมให้ช่างฝีมือนำไปแปรสภาพเป็นเส้นตอก และช่างตีเหล็กผู้สนับสนุนมีดและอุปกรณ์เหล็กกล้าหลากชนิด ให้การผ่าปล้องไผ่จักตอกเป็นไปด้วยดีถี่ถ้วนในทุกรายละเอียด ก่อนจะนำไปสานเป็นผลงานหลายประเภทต่อไปอย่างประณีตบรรจง

กระบวนการในการเตรียมวัตถุดิบ เครื่องมือที่ใช้ รวมไปถึงกลวิธีการทำงานและการทำลวดลายสานที่ช่างหัตถศิลป์ชาวเบปปุใช้เหล่านี้ ไม่ใช่ความลับสุดยอดหรือนวัตกรรมแปลกใหม่หายากแต่อย่างใด หากหัวใจสำคัญกลับอยู่ที่ความอุตสาหะของช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่ในการรักษาขั้นตอนการทำงานในแต่ละช่วงให้เป็นไปโดยพิถีพิถันอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความใส่ใจในรายละเอียดแม้ในหน่วยเล็กย่อยที่สุดของช่างฝีมือนี้ สร้างความแตกต่างโดดเด่นอย่างมหาศาลให้กับผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แยกออกจากงานหัตถกรรมไม้ไผ่อื่นๆ ทั่วไป เนื่องด้วยสามารถแสดงคุณสมบัติของเนื้อไม้และสะท้อนการรู้จักใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

7. เมื่อต้นไผ่ออกดอก : จุดสิ้นสุดหรือจุดเริ่มต้น

การออกดอกทุกๆ สามสิบ หกสิบ หรือ หนึ่งร้อยยี่สิบปีของไผ่ตามแต่ละสายพันธุ์โดยจะบานพร้อมกันไม่ว่าจะอยู่แห่งใด คือการเข้าสู่จุดสุดท้ายของวงจรชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป ช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่ผู้เชี่ยวชาญก็แก่ตัวลง ยิ่งบวกระยะเวลายาวนานในการฝึกฝนกว่าจะสามารถทำผลงานให้มีเอกลักษณ์จนประสบความสำเร็จ และกลุ่มลูกค้าในประเทศที่ลดลง ปัจจุบันจึงเหลือช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่เพียงประมาณ 200 คน ทั่วญี่ปุ่น เมื่อคำนึงว่าอายุเฉลี่ยของช่างรุ่นใหม่คืออยู่ระหว่าง 40 – 50 ปี และเป็นอาชีพต้องอาศัยความเข้าใจและการสนับสนุนจากครอบครัวทั้งด้านจิตใจหรือแม้กระทั่งการเงินในบางครั้ง อนาคตงานหัตถศิลป์แขนงดังกล่าวอาจดูราวกำลังก้าวสู่จุดสิ้นสุด

หากการออกดอกยังหมายถึงการเกิดเมล็ดพร้อมแตกเป็นยอดใหม่อีกครั้ง งานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ในปัจจุบันได้รับการสนใจจากหนุ่มสาวญี่ปุ่นยุคใหม่และกลุ่มนักสะสมต่างประเทศ งานทั้ง 5 ชิ้น ของทะเนะเบะ โชชิกุ ช่างหัตถศิลป์หนุ่มจากตระกูลทะนะเบะแห่งโอซาก้า ผู้ผ่านการฝึกฝนทั้งจากบิดาและปู่ ร่วมกับการศึกษาที่ได้จากโรงเรียนอาชีวะเบปปุ สะท้อนทิศทางของงานหัตถศิลป์ไม้ไผ่ทั้งเบปปุและญี่ปุ่น ที่มีความร่วมสมัยและขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างท้องถิ่นร่วมกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งสืบต่อไปในการแสดงศักยภาพของไผ่ในรูปทรงใหม่ๆ ที่ไร้ขีดจำกัด

8. ผลิยอดอ่อนฟื้นคืน : สูงสุดกลับสู่สามัญ เคล็ดลับสู่ความยิ่งใหญ่

การผลิยอดอ่อนของไผ่ต้องการการดูแลอย่างเอาใจใส่เพื่อให้เติบโตอีกครั้งได้อย่างงดงาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน นับจากจากวิกฤตเศรษฐกิจลีแมนในสหรัฐฯ เมื่อปีพ.ศ. 2551 ทำให้เส้นทางส่งออกสินค้าสู่ต่างประเทศถูกตัดขาด นับเป็นสภาวะการณ์ที่ยากลำบากยิ่งสำหรับช่างหัตถศิลป์ไม้ไผ่ แต่ช่างฝีมือก็ไม่ได้ทดท้อถอดใจ ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการทำงานและคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ เพื่อแสดงความพิเศษเฉพาะตัวของไม้ไผ่ออกเป็นผลงานหัตถศิลป์หลากแบบต่อไป หากถ้าเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปเป็นแบบที่ต่างออกไป ไผ่จะแสดงความยิ่งใหญ่ออกมาในลักษณะใดกันแน่

ตะกร้าปากกว้างสานลายอิสระที่โชโนะ โชอุนไซคิดสานขึ้นในช่วงท้ายๆ ของชีวิต แสดงการใส่ใจในรายละเอียดและกระบวนการทำงานตามแบบช่างหัตถศิลป์ให้ดีที่สุด เทคนิคการสานที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยากกลับแสดงพลังของไม้ไผ่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ รูปทรงของผลงานที่เรียบง่ายยังสะท้อนอัจฉริยภาพของช่างชาวเบปปุในการแปรสภาพเส้นใยให้ชีวิตของต้นไผ่ไม่สูญเปล่า หากกลับมามีประโยชน์และคงอยู่อย่างยืนนานที่สุดเท่าที่ทำได้ สมกับที่ทุ่มเทกายใจค่อยๆ เปลี่ยนปล้องไม้ไผ่ด้วยกระบวนการที่ละเอียดละอออย่างยากจะหาใครเทียม


Related To This Item

สื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


You May Also Like

แนะนำสื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจ


Your Recent Views

สื่ออื่นๆ ที่คุณเพิ่งดู