'ยีนส์’ เป็นแฟชั่นที่ทุกคนรู้จักกันดี มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่าร้อยปี และยังสวมใส่กันมาจนถึงทุกวันนี้ ในรูปแบบกางเกงขายาวที่ตัดมาจากผ้าฝ้ายซึ่งผ่านกระบวนการทอด้วยวิธีการเฉพาะที่เรียกกันว่า “เดนิม”
Denim / Jean / design / fashion / fabric / cutting / tcdcarchive
‘ยีนส์’ มีที่มาจาก ‘เดนิม’ ผ้าฝ้ายย้อมสีครามที่มีถิ่นฐานการผลิตจากฝรั่งเศส ในขณะที่รูปลักษณ์ของ ‘กางเกงขายาว’ ต้นตำหรับของยีนส์นั้นก็มีมาพร้อมๆ กัน โดยถูกใช้เป็นเครื่องแบบของเหล่ากะลาสีในอิตาลี ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่นำทั้ง ‘เดนิม’ และ ‘กางเกงขายาว’ มาประกอบเป็น ‘ยีนส์’ จนโด่งดังไปทั่วโลกนั้น คือสุดยอดนักคิดจากอเมริกา
ด้วยคุณลักษณะที่ดูสมบุกสมบัน ‘ยีนส์’ จึงถูกนำมาใช้เป็นชุดทำงานของชนชั้นแรงงานหรือ แม้กระทั่งเป็นเครื่องแบบของทหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 150 ปี ยีนส์สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ดีไม่แพ้เสื้อผ้ารูปแบบอื่นๆ ดีไซเนอร์ทั่วโลกต่างพากันสรรหาเทคนิควิธีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อสร้างจุดขายและเอกลักษณ์เฉพาะให้กับแบรนด์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ ’การนำกลับมาใช้’ ของเครื่องมือและวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ล้วนทำให้แต่ละแบรนด์มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป
นิทรรศการนี้จะนำเสนอเรื่องราวของกางเกงยีนส์ ว่าด้วยประวัติความเป็นมา เทคนิคการผลิตยีนส์ในรูปแบต่างๆผ่านวัสดุอุปกรณ์จริงที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งกางเกงยีนส์สุดยอดดีไซน์จากแบรนด์ชั้นนำ—และยีนส์แบรนด์ไทย ที่วันนี้มีโอกาสได้แสดงฝีมือให้คนไทยด้วยกันได้สวมใส่และชื่นชม ทั้งยังกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายพันล้านบาท
เดนิม (Denim) มีที่มาจากผ้าเสิร์จ (Serge) ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าทอลายสองหรือลายทแยง (Twill) แรกเริ่มทำด้วยขนสัตว์หรือเส้นใยไหม ใช้ทำเสื้อผ้าหลายชนิด ทั้งเครื่องแบบทหาร ชุดสูท เป็นต้น ต่อมาตระกูล อองเดร (Andr?) ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เส้นใยฝ้ายเนื้อหยาบ ย้อมด้วยสีครามหรือสีอินดิโก (Indigo) หรือที่ชาวยุโรปเรียกผ้าชนิดนี้ว่า แซร็ก เดอ นีมส์ (Serge de Nimes) เนื่องจากมีแหล่งผลิตที่เมืองนีมส์ (Nimes) ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังเมื่อเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายในอเมริกา (ปลายศตวรรษที่ 18) ชาวอเมริกันจึงเรียนสั้นๆ ว่า เดนิม ซึ่งเป็นชื่อเรียกแพร่หลายที่รู้จักกันในปัจจุบัน ปัจจุบันเดนิมถูกนำมาย้อมสีต่างๆ มากมาย อาทิ ดำ ขาว แดง เขียว เหลือง ฯลฯ แต่ที่จริงแล้วสีแบบฉบับดั้งเดิมของเดนิม คือสีคราม เนื่องจากเป็นสีที่สกปรกยาก เหมาะกับการทำงานที่สมบุกสมบันของพวกกรรมกร เดนิมจึงนิยมนำมาตัดเย็บเป็นชุดทำงานของชนชั้นแรงงานอย่างแพร่หลาย จนทำให้สีครามหรือสีน้ำเงินกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นนี้ไปโดยปริยาย
หากมองความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ การเกิดและเติบโตของยีนส์ (Jeans) มีมานานกว่าร้อยปี เดิมทีเป็นกางเกงขายาวตัดเย็บจากผ้าฝ้ายเนื้อหยาบเหนียวกระด้างคล้ายผ้าใบ (Fustian) ย้อมด้วยสีน้ำเงิน มีแหล่งผลิตที่เมืองเจนัว (Genoa) ประเทศอิตาลี กางเกงขายาวที่ผลิตจากผ้าดังกล่าว ถูกนำมาเป็นเครื่องแบบของลูกเรือในกองทัพเรือเจนัวในราวศตวรรษที่ 16 เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ทนทาน สกปรกยาก เหมาะแก่การใช้งานของพวกกะลาสี
ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1850 ลีวาย สเตราส์ (Levi Strauss) เจ้าของกางเกงแบรนด์ดังอย่าง ลีวายส์ (Levi’s) ได้เปลี่ยนมาใช้เดนิม ซึ่งมีเนื้อละเอียดนุ่ม สวมใส่ได้สบายกว่าผ้าชนิดเก่า เป็นผลให้กางเกงยีนส์ลีวายส์ ซึ่งถือเป็นแบรนด์แรกของโลกได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานมากขึ้น จวบจนกระทั่งกลายเป็นแฟชั่นที่แพร่หลายในหมู่วัยรุ่นอเมริกันในคริสต์ทศวรรษ 1950 ส่วนคำว่า ‘บลู จีนส์’ (blue jeans) ที่ชาวอเมริกันคุ้นเคย มีที่มาจากชื่อที่ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า ‘บลู เดอ แชน’ (bleu de G?nes—blue of Genoa) แม้ว่าปัจจุบันคนทั่วไปจะเรียกกางเกงขายาวที่ทำจากผ้าชนิดอื่นว่า ‘ยีนส์’ แต่อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับขนานแท้ของกางเกงยีนส์นั้นยังคงสงวนไว้นิยามถึงกางเกงขายาวที่ทำจากเดนิมเท่านั้น
การทอลายสองหรือทแยง (Twill) คือ ลวดลายลักษณะเฉพาะของเดนิมที่ได้รับความนิยม อันประกอบด้วยเส้นด้าย 2 ชุด ได้แก่ ด้ายยืน (Wrap yarn) 2 เส้น ที่เรียงอยู่ในแนวยาว และด้ายพุ่ง (Weft yarn) 2 เส้น ที่พุ่งสลับไปมากับด้ายยืน ซึ่งลวดลายดังกล่าวจะปรากฏอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผ้า (ทิศทางของแนวทแยงด้านหน้าจะตรงข้ามกับด้านหลัง) โครงสร้างดังกล่าวทำให้ผ้าชนิดนี้มีความเหนียวและทนทานเป็นพิเศษ เหมาะแก่การนำมาตัดเย็บเป็นกางเกงยีนส์ที่มีความสมบุกสมบัน
ทิศทางของแนวทแยงจะเริ่มจากด้านขวาไปด้านซ้าย ขนานกับเส้นกลางของตัวอักษร Z
ทิศทางของแนวทแยงจะเริ่มจากด้านซ้ายไปด้านขวา ขนานกับส่วนกลางของตัวอักษร S
ลายโบรคเคน ทวิลล์คือการทอลายทแยงขวาและซ้ายรวมกัน หรือที่เรียกว่าลายทแยงดัดแปลง (Twill derivatives) ยกตัวอย่างเช่น เกิดขึ้นจากการสลับที่เส้นด้ายยืนจากลายเดิม โดยการหยุดความต่อเนื่องของแนวทแยง ณ ช่วงที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว ซึ่งผ้าที่ได้จากการทอชนิดนี้ มีชื่อเรียกที่รู้จักกันว่า ‘ผ้าหนังไก่’ โดยจะปรากฏลวดลายการทอให้เห็นอย่างเด่นชัดภาย หลังจากการสวมใส่และซักล้างไปสักระยะ
การทอแบบริม คือการทอผ้าแบบมีริม โดยในยุคเริ่มต้นใช้เครื่องทอมือแบบโบราณ ใช้ด้ายพุ่งเป็นเส้นยาวแบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยใช้กระสวยพุ่งสลับไปมาซ้าย-ขวาอย่างต่อเนื่อง ผ้าที่ได้จะไม่มีชายขอบหลุดลุ่ย จึงทำให้มีราคาสูงกว่าผ้าที่ทอแบบปกติ ลีวายส์ (Levi’s) เป็นแบรนด์แรกที่นำการทอแบบนี้มาใช้ โดยมีกางเกงยีนส์ต้นตำหรับอันเป็นที่นิยมและรู้จักกันในชื่อรุ่น ลีวายส์ 501 (Levi’s 501) ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1950 จึงได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องทอผ้าแบบอุตสาหกรรมที่ทำขึ้นมาสำหรับการทอผ้าชนิดนี้โดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดในขณะนั้น
น้ำหนักของเดนิมมีหน่วยวัดเป็นออนซ์ (Ounce) โดยเทียบกับความยาวของผ้า 1 หลา ยกตัวอย่างเช่น ผ้าน้ำหนัก 12 ออนซ์ หมายถึง 12 ออนซ์ : 1 หลา ฉะนั้น ยิ่งผ้ามีน้ำหนักมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหนาและทนทานมากเท่านั้น ซึ่งเดนิมแต่ละชนิดจะมีน้ำหนักแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการใช้งาน เดนิมที่มีน้ำหนักไม่มาก (ประมาณ 5-8 ออนซ์) จะนำมาทำเสื้อเชิ้ตหรือกางเกงยีนส์ที่จะต้องปักหรือตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ เดนิมสำหรับกางเกงยีนส์ทั่วไปมีน้ำหนักประมาณ 11-14 ออนซ์ (มากน้อยขึ้นอยู่กับเทคนิคที่จะไปทำต่อ) เดนิมที่มีน้ำหนัก 20 ออนซ์ ขึ้นไป เป็นกางเกงยีนส์ที่นิยมสวมใส่ในเมืองหนาว เพราะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น รวมไปถึงเป็นที่ชื่นชอบของนักขับมอเตอร์ไซค์ เพราะเชื่อว่าช่วยลดและป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ปริมาณน้ำหนักที่แตกต่างกันของเดนิมยังสร้างลวดลายที่ต่างกันอันเกิดขึ้นภายหลังการสวมใส่อีกด้วย
กระเป๋าใส่เหรียญ ในยุคแรกทำเพื่อใส่นาฬิกาพกสำหรับคนงานในเหมือง คิดค้นขึ้นโดยลีวาย สเตราส์ (Levi Strauss) เป็นกระเป๋าใบที่ 5 ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นถัดจากกระเป๋า 4 ใบหลัก จึงถูกเรียกว่า ‘Fifth pocket’ ในบางครั้ง
ด้าย (Thread) นิยมใช้สีส้ม สีเหลือง เพราะเป็นสีที่ใกล้เคียงกับหมุดโลหะ และสร้างความสวยงามเมื่อตัดกับสีน้ำเงินเข้มของกางเกงยีนส์
กระดุม ที่ใช้ในกางเกงยีนส์มีต้นแบบมาจากกระดุมที่ใช้ในกางเกงของพวกคาวบอยซึ่งทำจาก ทองแดง ต่อมาจึงพัฒนามาใช้นิกเกิลที่มีราคาถูกกว่า กระดุมดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนฐาน (ตัวผู้) และส่วนหน้า (ตัวเมีย) ซึ่งจะเป็นบริเวณที่มีการสลัก ปั๊ม หรือตอก ลายโลโก้หรือชื่อแบรนด์นั้นๆ ส่วนบริเวณตัวผู้อาจมีรอยปั๊มอักษรย่อหรือตัวเลขรหัสต่างๆ หรืออาจไม่มีเลยก็ได้
ซิป แบรนด์แรกที่นำมาใช้ในกางเกงยีนส์คือ ลี (Lee) ในปี ค.ศ. 1926 ในยุคแรกๆ กางเกงยีนส์ของผู้หญิงจะ มีซิปอยู่ด้านข้าง ต่อมา ลี คูเปอร์ (Lee Cooper) จึงย้ายตำแหน่งมาไว้ด้านหน้า สร้างความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
หูกางเกง ตัดเย็บขึ้นครั้งแรกในกางเกงยีนส์ ลีวายส์ 501 (Levi’s 501) ที่ผลิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1922 มีไว้สำหรับใช้คู่กับเข็มขัด ซึ่งการผลิตในช่วงแรกนั้น ช่างตัดกางเกงยังคงใส่ฟังก์ชั่นของกระดุมกลัดสายเกี่ยวพาดบ่า และเข็มขัดหลังเอาไว้ ก่อนที่จะเลิกทำในเวลาต่อมา
ป้าย ส่วนมากมักติดไว้บริเวณขอบเอวเหนือกระเป๋าหลังด้านขวา ทำจากหนังแท้หรือกระดาษสังเคราะห์ (ป้ายปะเก็น) ระบุยี่ห้อ ตราสัญลักษณ์ ขนาด และหมายเลขรหัสต่างๆ รวมไปถึงข้อความรับประกันคุณภาพสินค้า
กระดุมกลัดสายเกี่ยวพาดบ่า ติดไว้บริเวณขอบเอวด้านหลัง มีไว้สำหรับกลัดเข้ากับสายเกี่ยวพาดบ่า (Suspender) เพื่อสวมใส่ให้กระชับ ช่วยให้กางเกงไม่เลื่อนหลุด เป็นแฟชั่นที่นิยมอยู่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 ก่อนที่เข็มขัดจะเข้ามามีบทบาทแทนที่
เข็มขัดหลังหรือหูหลัง มีลักษณะเป็นสายผ้าเดนิมผูกติดกับหัวเข็มขัดทองแดงหรือนิกเกิล เย็บติดไว้บริเวณผ้านาบสะเอว (Yoke) มีไว้ปรับบริเวณด้านหลังให้กระชับ ก่อนที่จะเลิกทำไปในราวปี ค.ศ. 1942 ปัจจุบันมีหลายแบรนด์นำฟังก์ชั่นนี้กลับมาอีกครั้งในยุคสมัยที่แฟชั่นวินเทจกำลังเป็นที่นิยม อาทิ อีวิสุ (Evisu), แอตเตอลิเย ลา ดูรองซ์ (Atelier La Durance) และลีวายส์ (Levi’s)
หมุดโลหะ หรือที่บ้านเราเรียกว่าเป๊ก คือหมุดที่ตอกติดไว้บริเวณรอยต่อของผ้าหรือขอบมุมกระเป๋ากางเกง เพื่อให้กางเกงมีความคงทนไม่ขาดง่าย คิดค้นโดย จาคอบ ดับเบิ้ลยู เดวิส (Jacob W. Davis) ซึ่งต่อมาได้ร่วมงานกับ ลีวาย สเตราส์ (Levi Strauss) ยุคแรกๆ หมุดดังกล่าวทำจากทองแดงและเหล็กติดกระจายทั่วกางเกงยีนส์ นำความร้อนอย่างรวดเร็วเมื่อคาวบอยสวมใส่ใกล้กองไฟ ลีวายจึงเปลี่ยนวัสดุและลดจำนวนลง
ผ้านาบสะเอว, ชิ้นผ้าแซม หรือผ้าโย้ก กางเกงยีนส์ทั่วไปจะมีส่วนด้านหลังสูงกว่าด้านหน้า เนื่องจากมีผ้านาบสะเอวรูปตัววี (V) ที่มีส่วนโค้งเว้าเข้ากับบั้นท้าย ยิ่งมีส่วนโค้งลึกเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะจะทำให้กางเกงไม่ตึงเกินไปเวลานั่ง ยีนส์สำหรับคาวบอยจะมีส่วนของผ้านาบสะเอวโค้งลึกเป็นพิเศษ ในขณะที่กางเกงยีนส์ทั่วไปจะโค้งไม่มากเท่าไหร่หรืออาจไม่มีผ้าชิ้นนี้เลยก็ได้
ลายปักกระเป๋าหลัง เริ่มต้นโดย ลีวายส์ (Levi’s) ที่ใช้โค้งปีกนก เดินเย็บด้วยด้ายบริเวณกระเป๋ากางเกงด้านหลัง มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสัญลักษณ์ให้กับแบรนด์ถือเป็นเครื่องหมายทางการค้าที่เก่าแก่และเป็นที่รู้จักมากที่สุด
เทคนิคที่นำเสนอนี้เป็นเพียงตัวอย่างจากบรรดาเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกางเกงยีนส์ ซึ่งต่างก็มีที่มาจากการสร้างสรรค์และทุ่มเทเวลาคิดค้นออกแบบ ผ่านการลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน จนกระทั่งได้ออกมาเป็น 10 เทคนิคสุดยอดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
1. ลายใคร ลายมัน
เป็นการนำผ้าเดนิมดิบ (Raw denim) ที่ไม่ผ่านการซักฟอกใดๆ มาตัดเป็นกางเกงยีนส์ผ้าเดนิม ดังกล่าว มีสีครามเข้มอย่างสม่ำเสมอทั้งตัว โดยจะเลือกใช้เนื้อผ้าค่อนข้างหนาและแข็ง เคล็ดลับในการสวมใส่กางเกงยีนส์ชนิดนี้คือ การซักครั้งแรกจะเกิดขึ้นหลังจากผ่านการสวมใส่ไป แล้วระยะเวลาหนึ่ง โดยมากจะเริ่มต้นที่ 6-8 เดือน หรือบางคนอาจใช้เวลานานถึง 1 ปี ผลที่ได้ก็คือริ้วรอยและลวดลายที่เกิดขึ้นบริเวณตะเข็บต่างๆ ของกางเกง ทั้งต้นขาด้านหน้าหรือข้อพับเข่า ซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามสไตล์และรูปแบบการสวมใส่ของแต่ละคน
แบรนด์ดังที่ใช้เทคนิคนี้ คือ นูดี้ (Nudie) จากสวีเดน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2001 โดยมีที่มาจากกลุ่มนักออกแบบ 3 คน ได้แก่ พัลเล สเตนเบิร์ก (Palle Stenberg) มาเรีย เอริกซอน (Maria Erixon) และยัวคิม เลนนิน (Joakim Lenin) โดยแรกเริ่มมีกลุ่มเป้าหมายพุ่งตรงไปที่กลุ่มคนรักดนตรี ด้วยความเชื่อที่ว่า “ยีนส์มีจิตวิญญาณ เฉกเช่นดนตรี”… นูดี้ เป็นแกนนำการใช้ใยฝ้ายแบบออแกนิค (Organic cotton) มาผลิตเป็นกางเกงยีนส์ ซึ่งเป็นใยฝ้ายที่ไม่ใช้สารเคมีระหว่างการเพาะปลูกทำให้สามารถจำหน่ายกางเกงยีนส์ได้ในราคาที่สูงขึ้นจากปกติ
2. หินสร้างลวดลาย
การฟอกด้วยหินภูเขาไฟ (Stone washing) คือเทคนิคการขัดสีกางเกงยีนส์ให้ซีดจางลง โดยนำไปซักรวมกับหินภูเขาไฟ (Pumice) และสารฟอกขาว (Bleach) ผลที่ได้คือสีครามเข้มของเดนิมจะค่อยๆ หลุดหายไป มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของหินที่ใช้และระยะเวลาในการปั่นซักล้าง ซึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตกางเกงยีนส์ทั่วไปจะใช้ระยะเวลาประมาณ 90 นาที นานที่สุดประมาณ 6 ชั่วโมง แน่นอนว่าระยะเวลาที่ไม่เท่ากันย่อมทำให้เฉดสีของเดนิมแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งการทำให้กางเกงยีนส์มีสีซีดลงนั้น นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว การพ่นทราย (Sand blasting) และการขัดด้วยกระดาษทราย (Sand paper) ก็เป็นเทคนิคที่นิยมและให้ผลลัพธ์คล้ายกัน
เอ็ดวิน (Edwin) กางเกงยีนส์เชื้อสายญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นโดย สึเนมิ (Tsunemi) เมื่อปี ค.ศ.1947 โดยเริ่มต้นธุรกิจจากการจำหน่ายกางเกงยีนส์ที่นำเข้ามาจากอเมริกา เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ในญี่ปุ่น ต่อมาในปี ค.ศ. 1961 เขาจึงได้ผลิตกางเกงยีนส์ขึ้นเป็นตัวแรกของญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ เอ็ดวิน (มีที่มาจากการสลับตัวอักษรในคำว่าเดนิม ‘Denim’) และยังเป็นรายแรกที่ใช้เทคนิคการฟอกด้วยหินภูเขาไฟที่คิดค้นขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1950 ก่อนที่จะกลายเป็นกรรมวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
3. ด่างด้วยกรด
ชีพ มันเดย์ (Cheap Monday) แบรนด์ดังจากสวีเดนเป็นผู้นำเทคนิคนี้เข้ามาสร้างกระเเสอีกครั้ง ก่อตั้งโดย ออชัน แอนเดอร์สัน (?rjan Andersson) และอดัม ฟรีเบิร์ก (Adam Friberg) เริ่มต้นจากการเปิดร้านขายกางเกงยีนส์มือสองในตลาดนัดแถบชานเมืองสตอกโฮล์ม ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนสามารถเปิดร้านแหล่งใหม่ใจกลางเมืองหลวงได้ในปี ค.ศ. 2005 พร้อมกับการต้อนรับสมาชิกใหม่ ลาส คาลสัน (Lasse Karlsson) ซึ่งคอลเลคชั่นแรกๆ เป็นการนำเสื้อผ้ามือสองมาตัดเย็บใหม่โดยผสมผสานกับผ้าเดนิมแสดงออก ถึงความเป็นตัวตนและเเตกต่างในการก้าวออกมาอยู่แถวหน้าของแฟชั่น ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างคุณภาพเทียบเท่ากับแบรนด์ดังอื่นๆ ส่งผลให้ ชีพ มันเดย์ เป็นที่รู้จักในหมู่วัยรุ่นชาวสวีเดนและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่าย 1,500 สาขา ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
4. ฉีก / กรีด / ตัด / ขัด / ถู
ฟลักซ์ (Flux) แบรนด์น้องใหม่จากออสเตรเลีย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเพื่อนๆ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โดยเป็นผู้นำเทคนิคนี้มาใช้ เราจึงพบเห็นกางเกงยีนส์ขาดวิ่นจากแบรนด์นี้อยู่เสมอ ซึ่งร่องรอยดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นจากการลงมือโดยเจ้าของแบรนด์เท่านั้น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวที่สำคัญของ ฟลักซ์
5. ยีนส์นัก (ละ) เลง
การเพ้นท์ (Paint) คือเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยเพิ่มสีสันเเละลวดลายให้กับกางเกงยีนส์ โดยสีที่นำมาใช้ มีแต่ตั้งสีอะคริลิค สีน้ำมัน สีน้ำ เเละสีเทียนชอล์ค ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ก็ไม่แตกต่างไปจากการวาดภาพทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นจานสีและพู่กันขนาดต่างๆ ขึ้นอยู่กับความพอใจ มีตั้งแต่การสร้างลวดลายประดับเพิ่มความ สวยงาม รวมไปถึงการทำให้กางเกงยีนส์ดูเก่าๆ แบบช่างทาสี
อีวิสุ (Evisu) เจ้าพ่อเเห่งวงการเพ้นท์บนกางเกงยีนส์ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 ใช้ชื่อเทพเจ้าแห่งเงินตรา สร้างชื่อแบรนด์และโลโก้ โดยมีเจ้าของชาวญี่ปุ่น คือ ฮิเดฮิโกะ ยามาเนะ (Hidehiko Yamane) อดีตช่างเย็บผ้า ที่ตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง เนื่องจากไม่ถูกใจผลิตภัณฑ์เดิมๆ ตามท้องตลาด ในช่วงแรก ทอผ้าด้วยเครื่องทอมือแบบโบราณ จึงสามารถผลิตได้เพียง 14 ตัวต่อวันเท่านั้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญ กับขั้นตอนการย้อมสีครามเป็นพิเศษ กล่าวคือ เส้นใยฝ้ายจะถูกจุ่มในถังสีอย่างน้อยที่สุด 16 ครั้ง เเละสูงสุดถึง 30 ครั้ง เพื่อให้ได้สีที่ทนทาน สวยงามเเละแตกต่าง ส่วนลวดลายเพ้นท์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ อีวิสุ คือ รูปนกนางแอ่นที่เพ้นท์บริเวณกระเป๋าหลัง ในยุคแรก ฮิเดฮิโกะ จะเป็นคนวาดภาพลงสีกับมือทุกตัว ภายหลังจึงนำเทคนิคการปักเข้ามาใช้เพื่อสร้างความแปลกใหม่จากเดิมที่เคยมี
6. คราบนี้มีที่มา
เป็นการทำให้เกิดร่องรอยสกปรกที่มีต้นแบบจากกางกางยีนส์ช่างซ่อมรถ โดนร่องรอยดังกล่าว อาจเกิดจากการใช้คราบน้ำมัน เครื่องจริง สีน้ำตาล และสีเคลือบไม้ที่ถูกนำมาทาตกแต่งเนื้อผ้ากางเกงยีนส์ ทำให้เกิดความรู้สึกสมบุกสมบัน ประหนึ่งผ่านการใช้งานมาเเล้วนับครั้งไม่ถ้วน
ดอนวาน ฮาร์เวล (Donwan Harwell) นักออกแบบชื่อดังชาวอเมริกัน เป็นผู้นำเทคนิคนี้มาใช้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากกางเกงยีนส์ยีนส์ช่างซ่อมรถแรลลี่ในคริสต์ทศวรรษ 1970 เขาก่อตั้งแบรนด์ พีอาร์พีเอส (PRPS) ขึ้นในปี ค.ศ. 2003 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตยีนส์ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ด้วยการเลือกใช้สุดยอดวัตถุดิบอย่างฝ้ายที่ปลูกในแอฟริกาที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นใยฝ้ายที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเส้นใยฝ้ายที่มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถดูดซับสีย้อมได้ดีโดยเส้นใยฝ้ายเหล่านี้จะถูกนำไปทอ ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังคงใช้เครื่องทอผ้าของบริษัท ลีวายส์ (Levi’s) ที่ผลิตขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1950 และเมื่อรวมเข้ากับฝีมือการตัดเย็บอันประณีตของชาวญี่ปุ่นด้วยแล้ว พีอาร์พีเอส จึงกลายเป็นยีนส์ ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนดัง สามารถสร้างชื่อและรายได้มหาศาลภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
*7. ร็อกเกอร์ยีนส์
เอพริล 77 (Aprill 77) โดดเด่นเรื่องการผลิตกางเกงยีนส์ลักษณะดังกล่าว โดยเป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2002 โดย บริซ ปาค์ตูช (ฺBrice Partouche) นักออกแบบชาวฝรั่งเศส เลือกใช้แนวดนตรีร็อก (Rock) และวัฒนธรรมนอกกระแสกำหนดทิศทางการผลิตเสื้อผ้าเเละกางเกงยีนส์ ทำให้กลุ่มลูกค้า ส่วนมากจะเป็นสาวกเพลงร็อกเเละผู้ชื่นชอบแนวอะวังการ์ด (Avant-garde)
8. คุณชายดิออร์กับขี้ผึ้ง
ดิออร์ ออม (Dior Homme) คือแบรนด์เครื่องแต่งกายชายที่แตกออกมาจากแบรนด์สุดหรู คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ออกแบบโดย เฮดี สไลมาน (Hedi Slimane) เปิดตัวในปี ค.ศ. 2001 ด้วยเสื้อผ้าเข้ารูปกับ หุ่นบางๆของผู้ชายหรือสไตล์สลิมฟิต (Slim fit) ที่ฉีกออกจากกระแสแฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชายหุ่นล่ำๆ ที่มีอยู่ บนแคทวอร์กทั่วไป โดยเฉพาะกางเกงยีนส์รัดรูปรุ่นเคลือบด้วยขี้ผึ้งได้รับความนิยมอย่างมาก แม้แต่ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ดีไซเนอร์ดังแห่ง ชาแนล (Chanel) ก็ยังยอมลดน้ำหนักถึง 90 ปอนด์ เพื่อที่จะใส่ชุดสลิมสุดฮิตให้ได้ ปัจจุบันกางเกงยีนส์รุ่นนี้จัดว่าเป็นรุ่นหายากและเป็นรุ่นสะสมของบรรดาแฟน สไลมาน ภายหลังที่เขาสิ้นสุดการ ทำงานกับ ดิออร์ ออม ในปี ค.ศ. 2007
9. ของใหม่ก็เก่าได้
ดีเซล (Diesel) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1978 โดย เรนโซ รอสโซ (Renso Rosso) นักออกแบบชาวอิตาเลียน เป็นผู้ริเริ่ม นำเทคนิคดังกล่าวมาใช้ในปี ค.ศ. 2009 ด้วยกระบวนการทำมือ (Handmade) ดีเซล เปิดตัวร้านเเรก อยู่ตรงข้ามกับร้าน ลีวายส์ (Levi’s) ผู้คนต่างจับตามองการต่อสู้ครั้งนี้ กลยุทธ์ของ รอสโซ คือ ปฎิเสธ สิ่งที่ทุกแบรนด์กำลังทำอยู่ เลือกเฉพาะดีไซเนอร์จบใหม่ และมีนโยบายให้ดีไซเนอร์ได้เดินทางอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี ท่องเที่ยวตามต้องการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ประสบการณ์จากการเดินทางถูกถ่ายทอด ลงบนผลงานอย่างน่าพอใจ ทำให้ ดีเซล ก้าวออกมายืนอยู่เเถวหน้า แบ่งยอดขายในสหรัฐอเมริกากับ ลีวายส์ อย่างละครึ่ง โดยมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี มีร้านใน 80 ประเทศทั่วโลก
10. ยีนส์สร้างเรื่อง
เทคนิคการพิมพ์ลวยลายต่างๆ ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอลลงบนเนื้อผ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ ในการผลิตกางเกงยีนส์ สร้างความเเม่นยำเเละยังสามารถสร้างพื้นที่ให้ดีไซเนอร์ได้ถ่ายทอดจินตนาการได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ซูบี้ (Ksubi) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2000 โดย แดน ซิงเกิล (Dan Single) จอร์จ กอร์โรว์ (George Gorrow) ออสการ์ ไรท์ (Oscar Wright) และ พอล วิลสัน (Paul Wilson) แม้จะมีเปิดตัวได้เพียงไม่กี่ปี แต่ด้วยความสด ใหม่ของทุกๆ การออกแบบ ทำให้ ซูบี้ สามารถกลายเป็นผู้นำแฟชั่นในประเทศออสเตรเลียเป็นที่เรียบร้อย ซูบี้ เปิดตัวคอลเลคชั่นล่าสุด ‘Last we regret’ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์ลายลงบนเนื้อผ้า โดยมีให้เลือกสรรกว่า 20 ลาย โดยลวดลายต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น
1. ซีพีเอส แชปส์ ยีนส์ไทยใส่ใจแฟชั่น
เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1980 ผลิตกางเกงยีนส์ควบคู่เป็นกับเสื้อผ้าชนิดอื่นๆ กางเกงยีนส์ ซีพีเอส แชปส์ (CPS Chaps) เน้นการผลิตโดยใช้ผ้าเดนิมคุณภาพสูงนำเข้าจากยุโรปและญี่ปุุ่น บวกกับการตัดเย็บอันประณีต มักใช้ด้ายเบอร์ใหญ่ เพื่อความสร้างความทนทาน สวมใส่ได้ยาวนาน นอกจากนี้ยังมีการ พัฒนาทรงรูปและเทคนิคให้ทันสมัยอยู่ตลอด เวลา เนื่องจากดีไซเนอร์ในสังกัดเดินทางไป “Jeans Trade Fair” เป็นประจำทุกปี เพื่อเรียนรู้และเสาะหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะนำปรับใช้ให้เหมาะสมกับค่านิยม การสวมใส่กางเกงยีนส์ของคนไทย ปัจจุบันมี 23 สาขาทั่วประเทศไทย โดยกระจายไปตามเมืองใหญ่ถึง 5 สาขา ได้แก่เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ชลบุรี และนครศรีธรรมราช เเละเนื่องจากมีปริมาณลูกค้าชายค่อนข้างสูง จึงเปิดร้านเฉพาะเครื่องแต่งกายชายถึง 4 สาขา เเละกำลังขยายตัวในปี ค.ศ. 2010 นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น นอร์เวย์ อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม
2. ปั๊มน้ำมัน แก็สโซลีน... ยีนส์ไวไฟ
เริ่มต้นจากความชื่นชอบในผ้าเดนิมที่สามารถออกแบบได้หลากหลายกว่าผ้าชนิดอื่น และความต้องการ ที่จะผลิตกางเกงยีนส์ให้เหมาะสมกับรูปร่างของเเต่ละคน ทำให้ ธนรัฐ เมธีดล ตัดสินใจเปิดร้านกางเกงยีนส์ไทย ปั๊มน้ำมัน แก็สโซลีน (Gasoline & Garage) ที่อยู่คู่กับ สยามสแควร์ มากว่าสิบปี ธนรัฐ ทำงานโดยเน้นความสนุกทั้งในเเง่การออกแบบเเละบรรยากาศในรอบข้าง บวกกับความเชื่อที่ว่า “ทุกอย่างย่อมมีข้อเสียเสมอ” ทำให้ผลงานของเขามีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ปั๊มน้ำมัน แก็สโซลีน ใช้วิธีการทำงานอย่างห้องเสื้อสมัยก่อน ผสานกับการออกแบบที่ทันสมัยมาจาก ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ควบคุมการตัดเย็บอันประณีตมาจากช่างตัดเสื้ออายุกว่า 80 ปี โดยตั้งใจที่จะควบคุม คุณภาพในการผลิตได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น เน้นการจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน แต่ก็ยังสามารถครองความนิยมอย่างสูงจากวัยรุ่นย่าน สยามสแควร์
3. ฮาร่า... ยีนส์ไทยเพื่อคนไทย
กางเกงยีนส์แบรนด์แรกของประเทศไทย ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1969 โดย เลิศชัย กมลวิศิษฎ์ ผู้ซึ่งเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า ในยุคเริ่มต้น ฮาร่า (Hara) ผลิตกางเกงยีนส์ทรงกลางๆ ที่สามารถสวมใส่ได้ทั้งหญิงและชาย จนในปี ค.ศ. 1998 ได้ผลิตกางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิงขึ้นโดยเฉพาะ นับเป็นจุดเริ่มต้นการแยกประเภทการสวมใส่สำหรับชายและหญิง
ปัจจุบัน ฮาร่า บริหารงานโดยทายาทตระกูล กมลวิศิษฎ์ ความรู้และความเชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่นทำให้ ฮาร่า ดำเนินธุรกิจมาจนถึง 40 ปีเต็ม เน้นการจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น การออกแบบเพื่อสรีระของคนไทยเป็นที่ถูกใจผู้ซื้อหาโดยเฉพาะสุภาพสตรีทั่วประเทศที่ยังนิยมสวมใส่ ฮาร่า อย่างเหนียวแน่นมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันกางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิงถือเป็นสินค้าหลัก โดยผลิตออกมาถึงร้อยละ 70 ล่าสุดเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ จิ๊กการู บาย ฮาร่า (Jikkaroo by Hara) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือสาวๆ อายุ 15 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะ
4. อินดิโกสกิน... เปลี่ยนผิวหนังให้เป็นยีนส์!
กางเกงยีนส์ไทยที่ถูกพูดถึงมากที่สุดแบรนด์หนึ่งในกลุ่มของผู้ชื่นชอบการแต่งตัวสไตล์สตรีทแวร์ (Street ware) โดย ธัชวีร์ สนธิระติ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นผลิต กางเกงยีนส์จากความหลงใหล ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูล ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทดลองคุณภาพการตัดเย็บ ครั้งแล้วครั้งเล่าจนในที่สุดก็ได้กางเกงยีนส์ไทยคุณภาพสูง และด้วยความชอบในจิตรกรรมไทยเป็นพิเศษ ธัชวีร์ จึงได้สร้างเอกลักษณ์ให้ยีนส์ภายใต้แบรนด์ของเขาเอง โดยการนำผ้าพิมพ์ลายไทยจาก โขมพัสตร์ และ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) มาตัดเย็บบริเวณกระเป๋า และการนำคอนเซ็ปต์ของสี ‘ทอง นาก เงิน’ มาใช้ในการเดินด้ายและทำกระดุม
ด้วยความกล้าที่จะคิด พร้อมด้วยการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะผ้าทอแบบริมจากบริษัทไคฮาระ (Kaihara) ซึ่งติดอันดับผ้าเดนิมที่ดีที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ทำจากผ้าฝ้ายชั้นดี ย้อมสีตามกรรมวิธีดั้งเดิม ทำให้ อินดิโกสกิน (Indigoskin) สามารถจำหน่ายได้ในราคาใกล้เคียงกับกางเกงยีนส์แบรนด์ดังจากต่างประเทศ และสามารถการันตียอดขายจากการเปิดจองล่วงหน้าในทุกๆ คอลเลคชั่นจากแผนการตลาดแบบ ปากต่อปาก ที่อาศัยการพูดคุยผ่านทางเว็บบอร์ด ทำให้สามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
5. จัสติน ยีนส์ ยีนส์ไทยพันธุ์เซอร์
เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา มัลทนา เกียรติภักดีกุล และ อรุณี บุญธรรม สองพี่น้องเริ่มต้นธุรกิจผลิตเเละจำหน่าย กางเกงยีนส์แบรนด์ จัสติน ยีนส์ (Justin Jeans) ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเเม้ในระยะเเรกๆประสบปัญหา การละเมิดลิขสิทธ์บ่อยครั้ง แต่ จัสติน ยีนส์ ก็สามารถฝ่าฟันมาได้ด้วยคุณภาพที่สูงกว่าของเลียนแบบ
ปัจจุบัน จัสติน ยีนส์ มีสาขากระจายตัวตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยรุ่นไทยอายุ 15-25 ปี เเละวัยทำงานที่ต้องการสนับสนุนสินค้าไทย โดยเลือกใช้การตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยง่าย ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านเพื่อนดาราให้ช่วยสวมใส่กางเกงยีนส์ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีและยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
6. แม็ค ยีนส์… ยีนส์ไทยโกอินเตอร์
แม็ค ยีนส์ (Mc Jeans) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1975 โดย ‘Mc’ (แม็ค) มาจากคำขึ้นต้นชื่อชายชาวสกอต โดยเป็น แบรนด์ที่แตกสาขามาจากธุรกิจซักอบรีด ‘ซินไฉฮั้ว’ เป็นผู้ริเริ่มลงทุนระบบการฟอกยีนส์พร้อมด้วยเครื่องมือ ที่ทันสมัยอย่างเครื่องเลเซอร์พิมพ์ลายเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ด้วยความโดดเด่นด้านรูปทรงและเนื้อผ้าที่เหมาะสมกับชาวเอเชีย ทำให้สามารถส่งจำหน่าย ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ ลาว พม่า เวียดนาม เป็นต้น นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายพันล้านบาท ส่งผลให้เป็นผู้นำด้านการตลาดอย่างต่อเนื่องมาตลอด 35 ปี ปัจจุบัน แม็ค ยีนส์ ยังมีแบรนด์ในเครืออีกมากมาย เช่น ไบสัน (Bison), แม็คเลดี้ (Mc Lady), แคงการู (Kangaroo)
สื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แนะนำสื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจ
สื่ออื่นๆ ที่คุณเพิ่งดู