การเริ่มต้นทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ หัวใจสำคัญก็คือออกแบบและวางแผนให้เห็นภาพรวมของโครงสร้างธุรกิจ ว่าควรเริ่มจากอะไร กำหนดกลยุทธ์ไปในทิศทางใด ใครคือกลุ่มเป้าหมาย และผลตอบรับคุ้มค่าหรือไม่ การออกแบบนี้จะทำให้เข้าใจภาพรวมของโครงสร้างธุรกิจได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงเกิดเป็นเครื่องมือสร้างโมเดลธุรกิจ หรือ 'Business Model Canvas' เพื่อใช้ออกแบบโมเดลธุรกิจให้เกิดความครอบคลุม เห็นภาพของโครงสร้างและปัจจัยต่างๆ ในการดำเนินงานให้ชัดเจนมากขึ้น ลงมือปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอนได้ง่าย และยังสร้างความเชื่อมโยงในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องกันให้เกิดเป็นภาพ (Visualizing) ได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยกระดาษเพียงแผ่นเดียว นิทรรศการ “โมเดลธุรกิจ : อย่างไร –> อะไร –> เพื่อใคร” จะเปลี่ยนความอยากทำ เป็นการเริ่มต้นลงมือทำได้ นอกจากนี้ยังทำให้แบบแผนและโครงสร้างธุรกิจของคุณชัดเจน ประสบผลสำเร็จ และมีความยั่งยืนต่อไป
Business Model Canvas / โมเดลธุรกิจ / แผนธุรกิจ / tcdcarchive
(นิทรรศการขนาดย่อม)
29 กันยายน - 13 ธันวาคม 2558
ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ
โลกในปัจจุบันหลายคนบอกว่า ถ้าอยากจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็อย่ามัวไปกังวลกับวิธีการดำเนินธุรกิจที่เราอาจจะยังไม่เข้าใจ จงใช้พลังและไอเดียอย่างเต็มเปี่ยมนั้นมุ่งไปที่การพัฒนาตัวสินค้าและบริการของคุณ แล้วลงมือทำมันเลยตั้งแต่เดี๋ยวนี้…
แต่ทว่าทำไมโลกนี้ถึงต้องมีสินค้าและบริการของคุณอยู่ด้วยล่ะ การตอบคำถามนี้ จึงจำเป็นต้องเริ่มจากการเข้าใจถึง “คุณค่า” ที่ธุรกิจของคุณมอบให้ลูกค้า ผ่านสินค้าและบริการนั้นๆ การสร้างคุณค่านี่เอง เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจในยุคปัจจุบัน ซึ่งการสร้างโมเดลธุรกิจจึงไม่มีอะไรมากไปกว่า การสร้างคุณค่า การส่งต่อคุณค่า และการเก็บเกี่ยวคุณค่าเหล่านั้นกลับคืนมาเป็นรายได้เพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืนต่อไป
แน่นอนว่าธุรกิจหมายถึงการลงทุน ซึ่งทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แต่จะทำอย่างไรให้ความเสี่ยงนั้นลดน้อยลงได้อีกหน่อย ในอดีตเราอาจจะคุ้นเคยกับ SWOT เครื่องมือที่จะช่วยวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจถึงภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง แต่นอกจากนั้นยังมีอะไรที่ควรคิดถึงอีกบ้าง โดยวิธีที่จะทำให้เราเข้าใจธุรกิจที่เรากำลังปรารถนาให้มันเกิดขึ้นจริงแบบเห็นภาพชัดเจนนั้น เราอาจต้องลองวาดมันขึ้นมา โดยคิดถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมพันธ์กันในหลากหลายมิติ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความเข้าใจวิธีคิดเกี่ยวกับธุรกิจอยู่มากมาย ซึ่งหนังสือ เทมเพลต และโมเดลต่างๆ ที่จัดแสดงเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาธุรกิจ
เครื่องมือนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อแสดงว่าทำอย่างไรกลยุทธ์ของคุณถึงจะประสบความสำเร็จ โดยที่ตรงกลางคือจุดมุ่งหมาย ซึ่งหมายถึงเหตุผลในการมีอยู่ของธุรกิจ อะไรที่ทำได้ดีกว่าคนอื่น และกิจกรรมที่อยู่รายรอบนั้น แสดงถึงกลยุทธ์ด้านต่างๆ ที่จะช่วยทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น โดยควรเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับธุรกิจจริงๆ เท่านั้น และทุกด้านต้องมีความสัมพันธ์กัน
เครื่องมือสร้างโมเดลธุรกิจสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน โดยอเล็กซ์ โอสเตอร์วัลเดอร์ (Alex Osterwalder) ซึ่งแบ่งองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจออกเป็น 9 ช่อง พร้อมกับแสดงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างส่วนต่างๆ ทำให้มองเห็นถึงการขับเคลื่อนคุณค่าของสินค้าและบริการในทุกมิติ ทั้งการสร้างคุณค่า การส่งต่อคุณค่า และการเก็บเกี่ยวคุณค่าจากลูกค้ามาสู่ธุรกิจ
Strategyzer พัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยออกแบบ ทดสอบ สร้างและจัดการคุณค่าสินค้าและบริการของธุรกิจ โดยเน้นที่การค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เทียบกับสิ่งที่ธุรกิจมอบให้ว่ามีความสอดคล้องกันเพียงใด ปัญหาของลูกค้าที่เขาเผชิญในปัจจุบัน อันสร้างความไม่สะดวก ไม่สบายใจ สินค้าได้ตอบสนองต่อสิ่งนั้นมากแค่ไหน ไปจนถึงสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังซึ่งจะทำให้เกิดความพึงพอใจ ธุรกิจสามารถทำได้ดีกว่านั้นหรือไม่
Board of Innovation พัฒนาเครื่องมือนี้ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่อาจมีกระแสรายได้หลายช่องทาง หรือมีพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมสำหรับทีมในการระดมความคิดเห็น เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อย่างเห็นภาพและเข้าใจตรงกัน เริ่มจากการเลือกองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบุชื่อแล้วโยงความสัมพันธ์ของกิจกรรมที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแสดงรูปแบบของรายได้และการดำเนินการต่างๆ ทั้งหมด
เครื่องมือออนไลน์นี้สร้างขึ้นโดย Lunatech Ventures ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ตอบคำถามนักลงทุนในเรื่องต่างๆ อย่างเข้าใจด้วยเวลาอันรวดเร็วภายในแบบฟอร์มมาตรฐานเพียงแผ่นเดียว ครอบคลุม 6 เรื่องที่นักลงทุนสนใจซึ่งได้แก่ ไอเดีย ผลิตภัณฑ์ เงินทุนที่ต้องการ ทีม รายได้ที่จะเกิดขึ้น และพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้อง
Link : Plan Cruncher
เครื่องมือที่ถูกพัฒนาต่อยอดจาก Business Model Canvas สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ลดบางขั้นตอนและขจัดบางเรื่องที่อาจยังไม่รู้ชัดแน่นอนสำหรับการเริ่มต้นออกเพื่อความรวดเร็ว พร้อมกับให้ความสำคัญในการค้นหาความต้องการที่แท้จริง และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนั้นยังสามารถใช้วิเคราะห์เส้นทางความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากตัวสินค้า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากลูกค้า และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากตลาด
Link : Lean Canvas
เครื่องมือนี้มักถูกใช้คู่กับ Lean Canvas ที่จะเข้ามาช่วยทดสอบแนวคิดก่อนที่จะสูญเสียเงินหรือเวลาไปโดยไม่จำเป็น ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยทำให้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น สร้างแนวทางที่น่าเชื่อถือ และทำให้สินค้าและบริการดีขึ้นอีกด้วย จากการตั้งสมมติฐานและออกไปทดสอบตามแนวคิดของ Lean Startup ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะไม่ได้คิดถึงความรวดเร็วของรายได้ที่จะเกิดขึ้น แต่เน้นที่ความรวดเร็วของการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงสินค้าและบริการ ทำซ้ำจนใกล้เคียงกับความต้องการให้มากที่สุด
Link : Validation Board
จากคำถามพื้นฐาน 4 ข้อ ที่ผู้กำลังจะเริ่มต้นทุกคนควรเข้าใจ อันได้แก่ คุณกำลังจะทำสินค้าหรือบริการอะไร (What?) เพื่อใคร (Who?) จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร (How?) และมันจะคุ้มค่าหรือเปล่า (Money?) ซึ่งอเล็กซ์ โอสเตอร์วัลเดอร์ (Alex Osterwalder) ได้ตั้งข้อสังเกต และขยายความคำถามต่างๆ แล้วประดิษฐ์ Business Model Canvas* เครื่องมือในการออกแบบโมเดลธุรกิจที่สามารถมองเห็นภาพรวมธุรกิจและความสัมพันธ์ในการถ่ายทอดคุณค่าระหว่างธุรกิจและลูกค้าได้ครบทุกมิติภายในแผ่นเดียว
หมายเหตุ * Business Model Canvas อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons โดยที่ผู้ใช้สามารถนำผลงานไปใช้และดัดแปลงได้ แต่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาและหากมีการเผยแพร่ต่อต้องใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons เช่นเดิม
การเริ่มต้นใส่องค์ประกอบต่างๆ ลงใน Business Model Canvas นั้น ควรใช้เทคนิคเช่นเดียวกับแนวคิดแบบ Lean Startup ที่ไม่สามารถการกรอกข้อมูลทุกช่องแบบครั้งเดียวจบ แต่หมายถึงต้องมีการตั้งสมมติฐาน แล้วทดสอบ ปรับปรุงทบทวนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นแนวทางที่ลดความเสี่ยงและใช้ได้จริงสำหรับธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจธุรกิจในทุกองค์ประกอบอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
รูปภาพบางส่วนจาก MIKKIPASTEL STUDIO
สื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แนะนำสื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจ
สื่ออื่นๆ ที่คุณเพิ่งดู